เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้วยการทูตมืออาชีพ ว่า การดำเนินงานด้านการต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมีหลายเรื่อง โดยมีสิ่งที่เน้นย้ำ คือ 1.การเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์และเรียกความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย หลังจากไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียเวลาและโอกาส รวมถึงความสนใจของประชาคมโลกต่อไทยหายไปด้วย ตนจึงต้องการผลักดันการทำให้ไทยกลับมีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก และรัฐบาลไทยมีความต้องการอย่างยิ่งในการร่วมมือด้านการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับมิตรประเทศทั้งหลาย ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่สุด คือการบอกให้กับประชาคมโลกทราบว่าตอนนี้ไทยกลับคืนสู่การเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

นายมาริษ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ไม่มีช่วงเวลาไหนจะทำธุรกิจกับประเทศไทยได้มากเท่าช่วงนี้ เพราะมีรัฐบาลที่โปรธุรกิจ อีกทั้งต้องทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสร้างประโยชน์ให้ประชาชนระดับรากหญ้าอยู่ดีกินดีด้วย สำหรับกระทรวงการต่างประเทศจะใช้กลไกสถานเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลกเกือบ 100 แห่ง และทีมไทยแลนด์ที่ทางกระทรวงฯ บูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยให้กลับคืนมา ด้วยการดึงดูดการค้า การลงทุน และเรื่องการศึกษา โดยต้องทำสิ่งเหล่านี้แบบเชิงรุก วิ่งไปหาเขา ไม่ใช่รอให้เขามาหาเรา รวมถึงภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน พร้อมกับเป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนด้วย

รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งและศักยภาพเรื่องทำเลที่ตั้งของประเทศ อยู่ระหว่างกลุ่มอาเซียนและบิมสเทค (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) เท่ากับว่าไทยเป็นจุดกึ่งกลางที่เราสามารถเชื่อมโยงทั้งตะวันออกกับตะวันตก และใกล้ชิดกับประเทศภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้ สอดรับการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง 8 สาขาตามนโยบาย Ignite Thailand ของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ การทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ตนอยากเห็นบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการให้คำแนะนำที่สำคัญกับนักธุรกิจและผู้ประกอบการของไทย ผลักดันให้เขาใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่เราเป็นภาคี และต้องทำเอฟทีเอเพื่อเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ขยายตัว

นายมาริษ กล่าวอีกว่า 2.การกลับมามีบทบาทนำของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก สำหรับอาเซียนถือเป็นเสาหลักในมิตินี้ ซึ่งไทยเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียนตามปฏิญญากรุงเทพฯ และเป็นผู้นำการพัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนในปัจจุบัน โดยไทยยังร่วมมือกับอาเซียนต่อไปเพื่อทำให้เรามีศักยภาพและพลังมากขึ้น ส่วนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยมีจุดแข็งคือการเป็นมิตรกับทุกประเทศ เราจึงต้องการเน้นบทบาทของเราในการร่วมกับนานาประเทศแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกและในภูมิภาค อีกทั้งเป็นสะพานเชื่อมในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือกับมิตรประเทศเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ตนอยากเห็น ทั้งความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC), กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF), กรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD ที่ไทยเป็นผู้ก่อตั้ง และจะเสนอตัวเป็นประธานในปี 2568 และยังมีความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคีที่ไทยจะเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มบริกส์ (BRICS) หรือกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

นายมาริษ กล่าวว่า 3.ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายต่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องการเสริมสร้างสันติสุขร่วมกัน มีเสถียรภาพ และสามารถร่วมมือกันแสวงประโยชน์ให้เกิดขึ้น โดยนโยบายหกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง เป็นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง ขณะที่ไทยพร้อมร่วมมือกับประเทศลาวในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน อีกทั้ง เรายังร่วมมือกับมาเลเซียในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางตอนใต้ของไทย ร่วมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทางตอนเหนือของมาเลเซีย ขณะที่กัมพูชา เรากำลังจะเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองเสียมราฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อกันระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบ

รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนเมียนมา เราเน้นเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน โดยขณะนี้ไทยมีบทบาทในการแก้ปัญหายาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ และธุรกิจสีเทา อีกทั้งไทยอยากเป็นผู้เล่นสำคัญสร้างการเจรจาสันติภาพ มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่มีความเปราะบาง ต้องค่อยๆดำเนินการ ทั้งนี้ โดยสรุปว่านโยบายหลักที่ตนอยากเห็น มี 3 ส่วน คือ 1.การเมือง เน้นบทบาทประเทศไทยเข้มข้น เป็นผู้เล่นหลักในประชาคมโลกมากขึ้น 2.ความร่วมมือด้านธุรกิจ ผลักดันภาคเอกชนทำธุรกิจร่วมกัน สร้างความอยู่ดีกินดีไปถึงรากหญ้าของประเทศ 3.สังคม อยากเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยั่งยืน