จากกรณีที่ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้ตรวจพิจารณาสำนวน และมีคำสั่งคดีเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 67 โดยสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8

แต่ปรากฏว่านายทักษิณ ไม่ได้เดินทางเข้าพบอัยการในวันดังกล่าว แต่ได้ทำหนังสือแจ้งขอเลื่อนเข้าฟังคำสั่งคดีออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า “ติดโควิด-19” พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ประกอบ อย่างไรก็ตาม นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการรับผิดชอบคดี ได้พิจารณาคำร้องที่ทนายความนำมายื่นแล้วเห็นว่า เหตุขอเลื่อนเนื่องจากอาการป่วยเพราะติดโควิด-19 จึงอนุญาตให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 67 เวลา 09.00 น. นัดให้นายทักษิณ มาพบอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ โรงแรมเดอะเกรซ อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เดินทางเข้าร่วมเป็นประธานในโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครคุมประพฤติในกลุ่มจังหวัด (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) ในการปฏิบัติงานตามภารกิจกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอาสาสมัครคุมประพฤติ เป็น 75,000 ราย ภายในเดือน ก.ย. นี้ เพื่อร่วมแก้ไขฟื้นฟูและป้องกันอาชญากรรม

จากนั้น พ.ต.อ.ทวี ได้ให้สัมภาษณ์ในกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด นัดหมายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมส่งฟ้องศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดมาตรา 112 โดยระบุว่า กระบวนการทางกฎหมาย กรมคุมประพฤติ มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อ จากการที่อัยการสูงสุด ส่งตัวนายทักษิณฟ้องศาล แม้ว่าจะอยู่ในระยะการพักโทษก็ตาม ส่วนการรับตัวในการส่งฟ้อง จะเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ศาล และผู้ถูกสั่งฟ้อง โดยไม่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทุกอย่างเป็นกระบวนการอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการเตรียมการอะไรเป็นพิเศษ

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากในวันดังกล่าวศาลไม่อนุญาตประกันตัวนายทักษิณ จะต้องมีการเตรียมโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังเดิมไว้หรือไม่? พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโรงพยาบาลตำรวจ และยืนยันว่าไม่มีเรื่องสมมุติ หรือเตรียมการอะไร พร้อมทิ้งท้ายว่า แม้ศาลจะให้ประกันตัว ก็ไม่มีความเกี่ยวเนื่องอะไรกับการพักโทษ เพราะคดีดังกล่าว เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้.