เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 มิ.ย. 67 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย น.ส.มาณวิกา ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร และ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร มาตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมและการซักซ้อมการปฏิบัติงานในการดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกในวันที่ 16 มิ.ย. 67 โดยได้มีการอบรมชี้แจงและจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเลือก เช่น บัตรเลือก ป้ายนับคะแนน หีบบัตร รวมทั้งยังจัดบอร์ดข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ทั้ง 20 กลุ่ม เพื่อให้ผู้สมัครได้ตรวจสอบและศึกษา

ทั้งนี้ได้มีการเตรียมสถานที่ บริเวณศูนย์ประชุมวายุภักษ์โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ที่จะมีห้องต่างๆ  ที่จะใช้เลือกรอบแรก 20 กลุ่ม และจะมาเลือกที่ชั้น 4 ในการแบ่งสายในรอบที่ 2

นายแสวง ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการซักซ้อมไม่ต่ำกว่า 2 รอบ ซึ่งขนาดของการเลือก สว. ครั้งนี้เล็กลง เชื่อว่าการจัดการจะง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้ง 2 ส่วน โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้สมัคร และการร่วมสังเกตการณ์ของประชาชน โดยความพร้อมของผู้สมัครจะต้องมาถึงก่อนเวลา 09.00 น. ซึ่งจะช้าเกินเพียง 1 วินาที ก็ไม่ได้ ต้องบริหารจัดการเรื่องการจราจร และวางแผนการเดินทางให้ดี 

เลขาฯ กกต. กล่าวว่า สถานที่ลงคะแนน เป็นสถานที่เลือก สว. ไม่ใช่สถานที่แนะนำตัว แต่สามารถพูดคุยกันได้ ซึ่งหลังจากเสร็จการเลือกกันเองในรอบแรกแล้ว โดยรอบที่ 2 ก็จะมีเวลาให้ผู้สมัครได้ศึกษาประวัติของผู้สมัครคนอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน และกรณีที่บางกลุ่มที่มีผู้สมัครคนเดียวในการเลือกแบบไขว้ จะให้หย่อนบัตรลงในหีบรวมของกลุ่มอื่น เพื่อให้การเลือกเป็นไปโดยตรง และลับตามกฎหมาย 

นายแสวง ยังชี้แจงถึงการแจกเอกสารแนะนำตัวให้กับผู้สมัครภายในกลุ่มเท่านั้นว่า เพราะประเมินว่าหากแจกให้ผู้สมัครทุกคนทุกกลุ่ม ของแต่ละคนให้ได้รับในทุกกลุ่มนั้น เกรงว่าเอกสารจะหนาเกิน 1 ศอก จึงมีการออกระเบียบให้แจกเอกสารแนะนำตัวเฉพาะบุคคลในกลุ่มเดียวกัน

ส่วนในรอบแบ่งสายแต่ละสายที่มีจำนวน 5 กลุ่ม ไม่เกิน 25 คน เลขาฯ กกต. กล่าวว่า ตนเชื่อว่าใช้เวลาศึกษาข้อมูลกันเอง เพียง 1 ชั่วโมง ก็น่าจะได้ ขณะที่เรื่องการนับคะแนน ให้กรรมการประจำสถานที่เลือกไปบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหา เช่น กลุ่มที่ 11 กับ 17 ซึ่งจะไปอ่านว่า “สิบหนึ่ง” หรือ “หนึ่งเจ็ด” ก็ได้ 

เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดกฎหมายลูกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จำนวน 4 มาตรา ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ขอให้รออีก 4 วัน ที่ศาลจะนัดชี้ชะตา ซึ่งในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ที่จะชี้ออกมา แต่ปฏิเสธตอบคำถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ จะทำให้การเลือก สว. เป็นโมฆะ.