เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน ภาค 4 กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการถือครองที่ดิน และการประกอบธุรกิจ ของชาวต่างชาติ บนพื้นที่ อ. เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ของคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ที่ได้มีการดำเนินการตรวจเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยมี พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว เป็นหัวหน้าชุด ว่า คืบหน้าไปมาก มีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ และ คณะทำงานฯ จะทยอยเข้ากล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งจากการตรวจพยานหลักฐานพบว่าสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏตามภูเขาสูงในพื้นที่เป้าหมาย 6 จุด พบความผิดหลัก 4 ฐานความผิด ประกอบด้วย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว ซึ่งในการกล่าวโทษกับตำรวจนั่น คณะพนักงานสอบสวนของ กอ.รมน. เป็นผู้รวบรวมฐานความผิดและกล่าวโทษผู้กระทำผิด ในคราวเดียวกันโดยไม่แยกคดีตามฐานความผิด เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้าในการสอบสวนปากคำและเรียกผู้ถูกกล่าวหามารับรับทราบข้อหา ของฝ่ายตำรวจ

เจ้าของวิลล่า บนเขาเกาะสมุย ร้อนๆหนาวๆ ‘กอ.รมน.ภ.4’ เอาผิดหนัก ใครเอี่ยวฟันไม่เลี้ยง

“การที่สำนักงานตรวจการแผ่นดิน ซึ่งท่านผู้ตรวจการเข้ามาดำเนินการติดตามสถานการณ์รวมถึงลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง เชื่อว่าจะทำให้ เราสามารถแก้ไขปัญหาไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม มีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนในอนาคต เราในฐานะหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ ยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูลและร่วมกันทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งยืนยันว่า หากทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน หากมีความผิดเชื่อมโยงไปถึงใคร โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงทั้งภาคเอกชน บุคคลเหล่านั้นก็ต้องรับผิดชอบ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการกลั่นแกล้งอย่างเด็ดขาด และไม่กระทบต่อผู้ทำอย่างถูกต้องตามกฏหมาย อยู่ก่อนแล้ว เพราะการทำงานในรูปแบบของสมุยโมเดลได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกัน นำกฎหมายของแต่ละกระทรวงมาปรับใช้ให้ถูกต้อง และเกิดประโยชน์มากที่สุด ถือว่าเป็นการตรวจสอบด้วยกันเองในระดับหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าหากเราทำอย่างถูกต้องให้เป็นไปตามกฏหมายก็ไม่มีเรื่องใดที่จะต้องกังวลใจ หากสามารถดำเนินการได้เร็วก็จะทำให้ประเทศเสียหายน้อยลง ผืนป่าและความอุดมสมบูรณ์ก็กลับคืนพี่น้องสมุยอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วยเราจะต้องช่วยกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ด้วยการร่วมมือกันแก้ไขไม่ให้ปัญหาบานปลายและมีความเสียหายไปมากกว่านี้ “ พล.ท.ศานติ กล่าว

วันเดียวกันที่ห้องประชุมเมืองคนดี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ที่ดินจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สรรพากรพื้นที่ เจ้าท่าภูมิภาค ปกครองจังหวัด ตำรวจภูธร และเทศบาล จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ และ กอ.รมน.ภาค 4

นายทรงศัก กล่าวในที่ประชุมว่า การลงพื้นที่ในพื้นที่ อ.เกาะสมุย พบว่าบริเวณยอดเขาและเชิงเขาหลายจุด เต็มไปด้วยวิลล่าหรู ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ครอบครองของชาวต่างชาติทั้งจีน เยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส ที่ดำเนินกิจกรรมในนามบริษัทนิติบุคคลโดยใช้ชื่อนอมินีชาวไทยมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทำธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาลักษณะนี้พบได้มากในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ซึ่งมีภูมิประเทศที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเป็นที่หมายตาของทุนชาติ โดยเฉพาะ จังหวัดภูเก็ตมีสถิติผู้ประกอบการการต่างชาติมากที่สุด กว่า 1 หมื่นราย จากภาพรวม ประมาณ 29,000 ราย โดยธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองมาคือด้านที่พักและอาหาร รวมทั้งด้านการค้าปลีกและค้าส่ง

“ปัญหาและอุปสรรคหลัก ที่เราพบ คือ หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างครบถ้วน และไม่มีหน่วยงานกลางสำหรับตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก อีกทั้งข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ มีช่องโหว่ ไม่ทันสมัยเพียงพอ และไม่ได้ให้อำนาจสนับสนุนการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ให้สามารถเข้าตรวจสอบนิติบุคคลต่างด้าว เพราะถ้าเข้าไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่อาจจะเกิดปัญหาการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามมาตรา 157 ในส่วนเส้นทางการเงินที่นำเข้ามาใช้ประกอบธุรกิจนั้นก็ตรวจสอบได้ยากเนื่องจากบางครั้งมาในรูปแบบคริปโตหรือเงินดิจิทัล ต้องขอชื่นชมในกาคทำงานแก้ไขปัญหาของ กอ.รมน.ภาค 4 ที่พบว่าขณะนี้คืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการรวบรวมหลักฐานความผิด พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานอมินีของผู้ตรวจการแผ่นดินขณะนี้ คือ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น หรือระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า โดยในระยะเร่งด่วนมุ่งหยุดการแพร่กระจาย (Freeze) การถือครองอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการเสนอแนะให้มีการยกร่างกฎหมายกลางที่เกี่ยวกับตัวแทนอำพรางและการทำธุรกรรมอำพรางโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้” นายทรงศัก กล่าวปิดท้าย