จากกรณี การจับกุมเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เเละเกิดเรือของกลางหาย ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน กล่าวถึงคดีดังกล่าวว่า ทางตำรวจกองบัญชาการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) มีหนังสือกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.67 อ้างว่ามีการจับกุมเรือทั้งหมด5ลำ ซึ่งมีการบรรทุกน้ำมันเถื่อนโดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 28 คน ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร โดยขั้นตอนก่อนที่จะถึงอัยการสูงสุดคดีจะต้องผ่านสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นสำนักงานที่จะรับผิดชอบคดีนอกราชอาณาจักร  เมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรก็ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 ปอศ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พร้อมกับมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พ.ค.67 ให้มีอัยการเข้าไปร่วมการสอบสวน โดยมีอัยการ 2 คนมีตนเป็นหัวหน้าทีม เข้าไปร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ปอศ. เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนก็มีการปรึกษาหารือเบื้องต้นเเละอยู่ระหว่างการนัดหมายประชุมพนักงานสอบสวนในวันที่ 18 มิ.ย.67 เเละก็เกิดเหตุการณ์ของกลางหายไป 3 ลำ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการประชุมกัน

เเม้เรือจะหายไปเเล้วเเต่ก็ต้องเเยกคนละส่วน เพราะการกล่าวหาในคดีน้ำมันเถื่อนนี้เป็นการกล่าวหาโดยชุดจับกุม ซึ่งประกอบด้วยตำรวจน้ำเเละตำรวจ ปอศ.จับกุมได้เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 การจับกุมเรือทั้ง 5 ลำที่มีการบรรทุกน้ำมันได้ที่บริเวณอ่าวไทยในจุดของใกล้เเท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมจัสมิน จะเป็นคดีหลัก ในการทำบันทึกการจับกุมมีของกลางเป็นเรือบรรทุกน้ำมันจำนวน 5 ลำ ซึ่งมีที่บรรทุกน้ำมัน 3 ลำ อีก 2 ลำไม่มีน้ำมัน โดยกล่าวหาว่าเรือทั้ง 5 ลำร่วมกันเทียบเรือเพื่อถ่ายน้ำมันเลยจับมาทั้งหมด

ขณะนี้ยังไม่ทราบเเน่ชัดเรื่องเจ้าของเรือ เเต่ผู้รับผิดชอบเป็นนายท้ายผู้ควบคุมเรือทั้งหมด 5 ลำมีผู้ถูกกล่าวหา 28 ราย คือนายสุนทร เขียวสุวรรณ กับพวกเป็นผู้ต้องหา มีน้ำมันอยู่ในเรือ คนที่ถูกจับใน 28 รายมีทั้งคนไทยเเละคนพม่า ลาว กัมพูชา เเต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ทำหน้าที่เป็นลูกเรือ ควบคุมเรือ มีการเเจ้งข้อหาร่วมกันพยายามนำเข้ามาหรือส่งออกภายนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังไม่ผ่านวิธีทางศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯมาตรา 242  ฐานร่วมกันซ่อนเร้นช่วยจำหน่ายช่วยพาไปเสียในทรัพย์(น้ำมัน) อันของพึงต้องรู้ว่าเป็นของเกี่ยวเนื่องในความผิดดังกล่าว เเละ พ.ร.บ.สรรพสามิตรฯ ในกรณีร่วมกันบรรทุกของลักลอบหนีศุลกากรหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดร่วมของการขายหรือมีไว้ซึ่งของสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง ฉนั้นข้อกล่าวหาจะมีทั้ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯเเละพ.ร.บ.สรรพสามิตร เท่าที่ทราบจากพนักงานสอบสวนคือ หลังจากเเจ้งข้อกล่าวหามีการประกันตัวไป 28 คนเเละให้ไปเฝ้าอยู่ในเรือดังกล่าว

โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวมีอัตราโทษสูงเเละมีเรื่องค่าปรับที่เป็นจำนวนมาก จากจำนวนราคาที่นับจากปริมาณน้ำมันเป็นหลายเท่าตัว เรื่องที่ให้ประกันเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ปอศ.เพราะตอนนั้นอัยการยังไม่เข้าไปร่วมสอบสวน เเต่เมื่อตอนพนักงานสอบสวน ส่งมาว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรฯหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการส่งคำให้การมาให้พนักงานอัยการบางส่วน เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ว่าเป็นคดีนอกราชฯหรือไม่ เเละเมื่อเป็นคดีนอกราชอาณาจักรเเล้วเป็นอำนาจอัยการสูงสุดโดยตรง ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ซึ่ง อสส.สามารถให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนฝ่ายเดียวก็ได้ เเต่เรื่องนี้อัยการสูงสุดเห็นว่าเป็นคดีสำคัญเลยมอบหมายอัยการสำนักงานการสอบสวนเข้าไปร่วมสอบสวน

ส่วนที่ผู้สื่อข่าวสอบถามว่ามีชื่อของ เสี่ยโจ้ ปัตตานี เข้ามาเกี่ยวคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น ในเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนทำมายังไม่มีชื่อนี้ปรากฎ มีเเต่ชื่อนายเล็ก ชื่อโจ้ยังไม่มี ก็ต้องดูว่าการสืบสวนสอบสวนหลังจากนี้ เพราะตอนนี้เป็นการเริ่มต้นเข้าไปร่วมสอบสวน ซึ่งอำนาจการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงเเต่ผู้เดียว

ส่วนชื่อเสี่ยโจ้ปัตตานี ตนทราบชื่อนี้เพราะเคยไปร่วมสอบสวนในคดีนอกราชอาณาจักรเหตุเกิดที่จังหวัดสงขลา ตอนนั้นสำนักงานตำรวจเเห่งชาติตั้งเป็นคณะทำงานชุดใหญ่มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมานานมาก เรื่องดังกล่าว ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ตั้งเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตั้งตนเป็นอัยการร่วมสอบเเละสั่งฟ้อง เสี่ยโจ้ปัตตานีไปเเล้ว เพียงเเต่ขณะนั้นไม่ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องเรื่องจากหลบหนี จึงยังไม่สามารถฟ้องคดีได้ ซึ่งข้อหาในคดีที่สงขลาฯก็คล้ายๆคดีนี้

“ถ้าพูดกันตามพยานหลักฐานก่อนตอนนี้ยังไม่พบชื่อปรากฎในคดีนี้เเต่เเค่ถ้ามีการสอบสวนโดยทางเราเข้าไป ที่เรียกว่าไปกำกับควบคุมการสอบสวนได้ก็เพราะว่าอัยการมีอำนาจในการออกคำสั่งเเละคำเเนะนำให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งเเละคำเเนะนำของอัยการ ถ้าเราเข้าไปเเสวงหาพยานหลักฐานเเล้วถ้าพบว่ามีใครเกี่ยวข้องก็ต้องถูกดำเนินคดีไป หลังจากประชุมกันเสร็จก็จะเป็นการกำหนดทิศทาง อย่างที่เรียนว่าการเข้าไปร่วมสอบสวนของอัยการในคดีนอกราชอาณาจักรไม่เหมือนคดีเยาวชนฯ อันนั้นไปร่วมสอบสวนเเค่ปากใดปากหนึ่งเท่านั้นโดยเฉพาะปากเด็ก เเต่ถ้าเป็นคดีนอกราชฯอัยการจะเข้าไปให้คำเเนะนำเเละออกคำสั่งได้ ในส่วนของกลางเรือ 3 ลำที่หายไปไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องเรือหายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนตำรวจต้องดำเนินการเองไม่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้”  รองอธิบดีอัยการสอบสวน ระบุ.