ระบบให้บริการด้านสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรหรือ NHS (National Health Service) เพิ่งออกโรงเตือนประชาชนให้ลดการรับประทานอาหาร 5 ประเภทหลัก เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

รายชื่อเหล่านี้ผ่านการพิจารณาจาก NHS และกองทุนวิจัยโรคมะเร็งโลก (World Cancer Reserch Fund) ซึ่งพบว่าเกี่ยวพันกับโรคมะเร็งในแง่ที่ว่าการรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

สำหรับการอาหาร 5 อย่างที่หลีกเลี่ยงเพื่ออยู่ให้ไกลจากโรคมะเร็งได้แก่

* เนื้อสัตว์แปรรูป ผลจากการวิจัยที่กำกับโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ คือสารก่อมะเร็ง (carcinogen) กลุ่มที่ 1 กล่าวคือเป็นตัวก่อมะเร็งโดยตรง 

เนื้อสัตว์แปรรูปหมายถึงเนื้อต่าง ๆ ที่ไม่ได้จำหน่ายในรูปของเนื้อสด แต่ก็ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก เนื้อเหล่านี้จะผ่านกระบวนการถนอมอาหาร เช่น รมควัน, หมักเกลือ ซึ่งมักจะใส่สารเคมี เช่น ไนไตรท์ ลงไปในเนื้อสัตว์เพื่อกันการเน่าเสีย สารเคมีเหล่านี้จะกลายเป็นไนโตรซามีน หรือสารก่อมะเร็งในอาหาร และไปทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้ ก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้

คำแนะนำในการบริโภคอาหารประเภทนี้คือควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

* เบคอน อาหารยอดนิยมสุดโปรดของคนรักเนื้อชนิดนี้ไม่เพียงอุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัวซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่กระบวนการผลิตก็ทำให้มันเข้าข่ายอาหารที่มีสารก่อมะเร็งอยู่แล้ว นอกจากนี้ การนำเบคอนไปปรุงที่ความร้อนสูงยังอาจทำให้สารเคมีก่อมะเร็งบางอย่างแตกตัวออกมา

* ซาลามีและโชริโซ อาหารประเภทไส้กรอกเหล่านี้ก็คล้ายกับเบคอน กล่าวคือผ่านกระบวนการถนอมอาหารที่มีการใช้สารปรุงแต่งในการถนอมอาหารซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้

องค์การอนามัยโลกระบุว่า การรับประทานอาหารประเภทเนื้อที่ผ่านกระบวนการแปรรูปหรือถนอมอาหารเหล่านี้เพียงวันละ 50 กรัม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ให้เพิ่มจาก 6% เป็น 7% ได้

* เนื้อกระป๋อง (Corned Beef) ความจริงเนื้อกระป๋องมีสารอาหารหลายอย่างที่มีประโยชน์ เช่น เหล็ก, วิตามินบี 12 แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้เกลือในการถนอมอาหาร จึงทำให้มันเข้าข่ายอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดปริมาณในการรับประทาน

นอกจากนี้ เนื้อวัวยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ซึ่งหมายถึงว่ามีแนวโน้มว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

* แฮม เนื้อแฮมก็มีลักษณะคล้ายกับเบคอน กล่าวคือเป็นเนื้อที่ผ่านกระบวนถนอมอาหาร ถือว่าเป็นเนื้อแปรรูป อีกทั้งเนื้อหมูเองก็จัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A เช่นเดียวกับเนื้อวัว จึงไม่ควรรับประทานบ่อยหรือรับประทานในปริมาณมากเกินไป

NHS ยังแนะนำประชาชนให้จำกัดการรับประทานเนื้อแดงให้ไม่เกิน 350-500 กรัมต่อสัปดาห์ (น้ำหนักของเนื้อที่ปรุงสุกแล้ว) โดยเปลี่ยนไปรับประทานเนื้อ “สีขาว” แทนได้ เช่น เนื้อไก่, เนื้อปลา ซึ่งยังไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES