นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย เปิดเผยว่า สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย พร้อมอีก 3 สมาคมฯ ได้แก่ สมาคมประสานงานรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ และ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้เข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อขอบคุณและหารือในการแก้ปัญหารถแท็กซี่ดังนี้ 1.ขอปรับขึ้นค่าโดยสารเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีและเกิดการระบาดโควิด-19 รมว.คมนาคม ให้ชะลอไว้แต่ปัจจุบันต้นทุนและค่าครองชีพสูงขึ้น
ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…… ทำให้ไม่เกิดความเท่าเทียม ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันเท่าเทียมและยกระดับบริการแก่ประชาชนที่เรียกใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น จึงขอให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาปรับแก้อัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่เพิ่มเติมดังนี้ 1.อัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ขนาดปกติหรือขนาดเล็ก 1,600 ซีซี ประกอบด้วย 1 กม.แรก หรือราคาเริ่มต้น 40 บาท, ระยะทาง 1-10 กม. คิดอัตรา 7 บาท/กม. ราคารวม 110 บาท, 10-20 กม. คิด 8 บาท/กม. ราคา 200 บาท, 20-40 กม. คิด 9 บาท/กม. ราคา 300 บาท และ 40-60 กม. คิด 10 บาท/กม. ราคา 640 บาท
นายศดิศ กล่าวต่อว่า 2.อัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ 2,000 ซีซีหรือเกินกว่า ประกอบด้วย 1 กม.แรก หรือราคาเริ่มต้น 40 บาท, 1-10 กม. คิด 8 บาท/กม. ราคา 120 บาท, 10-20 กม. คิด 9 บาท/กม. ราคา 210 บาท, 20-40 กม. คิด 10 บาท/กม. ราคา 440 บาท และ 40-60 กม. คิด 11 บาท/กม. ราคา 660 บาท ขณะที่อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ในปัจจุบัน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 64 รวมเวลา 6 ปี ประกอบด้วย 1 กม.แรก เริ่มต้น 35 บาท, 10 กม. ราคา 87 บาท, 20 กม. ราคา 151 บาท, 30 กม. ราคา 227 บาท, 40 กม. ราคา 305 บาท, 60 กม. ราคา 465 บาท และ 80 กม. ราคา 645 บาท
สำหรับกรณีรถติดหรือเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 15 กม./ชม. คิดค่าโดยสารเพิ่มนาทีละไม่เกิน 3 บาท ส่วนกรณีว่าจ้างจากสนามบิน ณ จุดที่จัดไว้เฉพาะ (ค่าเซอร์วิสชาร์จ) รถขนาดปกติ (เล็ก) 75 บาท และ รถขนาดใหญ่ หรือเกินกว่า 95 บาท ส่วนกรณีว่าจ้างมีสัตว์เลี้ยง คิดค่าสัตว์เลี้ยงโดยตกลงราคากันได้ ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียมกันให้นำรถขนาดเล็กที่มีกำลังขับเคลื่อนตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 กิโลวัตต์ ของรถรับจ้างผ่านแอพฯมาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์ได้ส่วนการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารนอกเหนือจากเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล จากเดิมระยะทางเกิน 60 กม. ตกลงราคากันได้ ให้แก้ไขเป็นจังหวัดอื่นๆ และจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ ปริมณฑล ตกลงราคากันได้
นายศดิศ กล่าวอีกว่า 2.ขอให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาททุกคน ขณะนี้บุคคลกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามมาตรการภาครัฐ 3.จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ขับรถแท็กซี่ครบทั้ง 3 เข็ม เพิ่มปลอดภัยและความมั่นใจให้ผู้โดยสาร และ 4.ขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปีเป็น 12 ปี และขึ้นค่าสัมภาระเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการรถแท็กซี่ในช่วงโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบมาสักระยะแล้ว
ทั้งนี้ช่วงโควิด-19 ระบาดจำนวนมาก เมื่อเดือน ก.ค.64 สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทยจัดรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งฉากกั้นโควิด 100 คัน จัดพนักงานขับรถที่ได้ผ่านการอบรมให้บริการผู้ป่วยโควิด สวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน (พีพีอี) ตามมาตรการสาธารณสุขให้บริการรับส่งผู้ป่วยโควิดทุกระดับ เพื่อรับส่งผู้ป่วยจากที่พักไปส่งที่ รพ. หรือ รพ.สนาม โดยคิดค่าโดยสารตามระยะทาง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรณ์ทางการแพทย์และช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตด้วย