เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกทม. นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์. รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันแถลงข่าวถึงมาตรการการจัดการตลาดขายสัตว์ในกทม. หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์โซนค้าขายสัตว์เลี้ยง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.

โดย นายชัชชาติ กล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้นเป็นตลาดศรีสมรัตน์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งแยกออกมาจากตลาดนัดจตุจักรที่ กทม.เป็นผู้ดูแล โดยโซนที่เกิดเหตุนั้น มีพื้นที่เสียหายประมาณ 118 ล็อค ขนาดล๊อคละ 7 ตร.ม.และพื้นที่ข้างเคียง 15 ล๊อค รวมพื้นที่เสียหายทั้งหมด 1,400 ตร.ม. ในที่เกิดเหตุไม่มีผู้เสรบชีวิตและไม่มีผู้พักอาศียอยู่ จึงมีเพียงแต่สัตว์ที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เบื้องต้นทราบข้อมูลจำนวนสัตว์ที่เสียชีวิตจากผู้ค้าที่มาแจ้งประมาณ 5,000 ตัว แต่เนื่องจากไม่เราสามารถนับซากสัตว์ได้จึงไม่รู้จำนวนที่แท้จริง ทำให้จำนวนดังกล่าวที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นจำนวนที่มาจากทางผู้ค้าแจ้งให้กับภาครัฐทราบ กทม.ได้รับแจ้งเหตุเมื่อเวลา 04.08 น.ใช้เวลา 6 นาทีถึงที่เกิดเหตุก็พบว่าเพลิงลุกไหม้แล้วประมาณ 10 ล็อค ต่อมาเวลา 04.25 น. สามารถควบคุมเพลิงได้ และเพลิงลุกไหม้ค่อนข้างเร็วประกอบเจอปัญหาที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดับเพลิงด้านในได้เนื่องจากทุกห้องมีการล๊อค เนื่องจากมีสัตว์อยู่จึงเป็นอุปสรรคอีกหนึ่งอย่าง

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ตลาดแห่งนี้มีการค้าขายสัตว์มานานกว่า 20 ปีและได้มีการต่อสัญญาใหม่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว กฏหมายที่เกี่ยวข้องมี 3 พ.ร.บ. ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งเกี่ยวกับกิจการที่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพ ซึ่งต้องมีการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการ แต่ที่ผ่านมากทมไม่เคยออกไปอนุญาตให้กับร้านขายสัตว์เนื่องจากที่ผ่านมา ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของกฎหมาย

2.พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ซึ่งดูแลโดยกรมปศุสัตว์ ดังนั้นร้านค้าที่จะดำเนินกิจการค้าสัตว์นี้ ก็ต้องได้รับใบอนุญาต ร.10 ก่อนจึงจะค้าขายสัตว์ได้ และ 3.พ.ร.บ.ป้องกันและทารุณกรรมสัตว์ฯ ออกโดยกรมปศุสัตว์ และมีกทมเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็คือมีปลัดกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการเขต เป็นเจ้าหน้าที่ร่วมช่วยปฏิบัติการด้วย ซึ่งภายหลังที่ตนเข้ามาบริหารก็ได้มีนโยบาย ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดชีวิต

หัวใจสำคัญคือต้องเริ่มควบคุมที่ร้านค้าขายสัตว์ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการสำรวจร้านค้า เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 กทม.ก็ได้ทำหนังสือถามไปยังกรมอนามัย ซึ่งดูแล พ.ร.บ.การสาธารณสุข เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพว่า สรุปแล้วการค้าขายสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยออกใบอนุญาตให้กับร้านผ่าตัดเลย และเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมอนามัยเพิ่งตอบกลับมาว่า เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นความชัดเจนแล้วว่า กิจการค้าสัตว์ทั้งหมด ต้องมีการขอใบอนุญาตเรื่องเกี่ยวกับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งตรงนี้คือตัวสำคัญที่จะใช้กำหนดทิศทางในอนาคต

จากนี้ไปเราจะทำการสำรวจร้านค้าทั้งหมด ที่มีอยู่ในกทม ซึ่งปัจจุบันยังมีจุดใหญ่อยู่อีก 2 แห่งนั่นก็คือตลาดสนามหลวง 2 เขตทวีวัฒนา และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี เขตมีนบุรี สำหรับกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุม จะมีตั้งแต่การเพาะพันธุ์เลี้ยง การอนุบาล การขายสัตว์ การทำคาเฟ่สัตว์ การอาบน้ำ ตัดขน สปา ทั้งหมดนี้ต้องควบคุมหมด หลังจากนี้ก็จะต้องดำเนินการทำให้ละเอียด มีวางหลักเกณพ์ ข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้เข้ามาขอใบอนุญาต ดำเนินกิจการให้ถูกต้อง โดยจะเชิญเครือข่าย ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เข้ามาช่วยในการกำหนดหลักเกณฑ์ด้วย ส่วนเรื่องการป้องกันอัคคีภัยในสถานที่ประกอบกิจการ ค้าสัตว์ นั้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่จะถูกกำหนด เป็นเงื่อนไข ในการเข้ามาขอใบอนุญาตด้วยเช่นเดียวกัน

เสียใจเพราะคิดว่าจะทำได้ดีกว่านี้ หลังจากนี้ไม่อยากให้สัตว์เหล่านี้ตายเปล่า ต้องเอาตรงนี้ไปปรับปรุง หลังจากนี้จะต้องทำให้ดีกว่านี้ จะบอกว่าวัวหายล้อมคอกก็ยอม เพราะเชื่อว่า เราไม่ได้เพิ่งเริ่มในวันนี้แต่เราเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่เราเริ่ม ในการควบคุมหมาแมวจรจัด จะมีคำถามไปยังกรมอนามัย เรื่องเกี่ยวกับใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นตอนนี้เรารู้ว่าเรามีดาบตรงนี้แล้วต่อไปทุกร้านที่จะขายก็ต้องมาขอใบอนุญาตฯที่กทม.ก่อน และ อาจจะใช้ทำที่ฟองดู ในการให้ประชาชนช่วยกันแจ้ง เกี่ยวกับร้านของสัตว์เลี้ยงด้วย อย่างน้อยเรามีคอกขึ้นมาแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้ก็จะทำให้ดีขึ้น” นายชัชชาติ กล่าวและเผยต่อไปว่า

ส่วนจุดที่เกิดเพลิงไหม้นั้นขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น หลังจากนี้ถ้าหากจะกลับมาเปิดใหม่ การรถไฟฯต้องขออนุญาตก่อสร้างใหม่ เพื่อเป็นตลาด ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และหากมีการค้าสัตว์ ผู้ค้าก็จะต้องไปขอใบอนุญาต ให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (แบบร.10) จากกรมปศุสัตว์ และใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ(ใบอภ.2)จากกทม.ก่อน ถึงจะสามารถดำเนินกิจการได้

ทางด้านรองผู้ว่าฯกทม. กล่าวเพิ่มว่า ในช่วงวันที่ 12 ธ.ค.66 ได้มีการทำสำรวจกิจการเพิ่มเติมและสอบถามข้อกฎหมายกับทางกรมอนามัยเรื่องกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ(ใบอภ.2) ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลกิจการที่เกี่ยวกับสุนัขและแมวมีทั้งหมด 233 ราย ซึ่งภายหลังจากได้รับคำตอบจากกรมอนามัยว่าเป็นกิจการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงเป็นกิจการที่ต้องขอใบอพ.2 ได้มีให้สำนักงานเขตลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินกิจการด้านสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์เป้าหมายการตรวจประเมินให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ก.ค.

โดยแนวทางการดำเนินงานหลังจากนี้ คือ 1. ติดตามการขึ้นทะเบียนกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ให้ครบ 50 เขตตามฐานข้อมูลของกรุงเทพมหานครและปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร 2.สำนักงานเขตตรวจประเมินมาตรฐานการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบกิจการและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์โดยลงพื้นที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และ3. ผู้ประกอบกิจการต้องมีการปรับปรุงสถานประกอบการตามคำแนะนำให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลังจากเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจประเมินกิจการ

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มว่า จากการตรวจสอบร้านค้าในตลาดที่เกิดเพลิงไหม้นั้น พบว่ามีผู้ค้าบางรายที่มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่เนื่องจากกฎหมายระบุให้ผู้ค้าแต่ละรายเป็นผู้ขอใบอนุญาต ไม่ใช้กำหนดให้เจ้าของสถานที่นั้นๆเป็นผู้ขออนุญาต ดังนั้น หลังจากนี้ จะประสานข้อมูลกับ กทม.ในการลงพื้นที่ตรวจและสำรวจร้านค้าสัตว์ที่อยู่ในบัญชีของกรมปษุสัตว์ว่ามีใบอนุญาตหรือไม่.