เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายเมธา มาสขาว ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยว่า จากการสังเกตการณ์เลือก สว. ระดับอำเภอ ที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร และสถานการณ์พื้นที่ใกล้เคียง ขอสรุปความเห็นจากการสังเกตการณ์ดังนี้ 1.การเลือก สว. ครั้งนี้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมจำนวนมาก เพื่อขอมีส่วนทางการเมืองแม้ถูกเขียนขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผูกขาดอำนาจ ทั้งกลุ่มผู้สมัครอิสระโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ กลุ่มพรรคการเมืองใหญ่ กลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด/อำเภอ 2.ตอนแรกคาดว่า กลุ่มอำนาจเก่าและพรรคการเมืองใหญ่จะรอช้อนซื้อเสียงผู้ที่ผ่านการเลือก สว. ในรอบจังหวัด หรือระดับประเทศเพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการโหวตกฎหมายหรือการเลือกองค์กรอิสระต่างๆ แต่เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนส่งผู้แทนลงสมัครทั่วประเทศจำนวนมาก ทำให้พรรคการเมืองใหญ่และกลุ่มอำนาจเก่า จึงต้องส่งผู้แทนของตนลงสมัครรวมถึงหัวคะแนนอีกจำนวนมากด้วยเช่นกันในแต่ละกลุ่มและในแต่ละจังหวัด

นายเมธา กล่าวอีกว่า 3. การเลือก สว. ในเขต จ.ยโสธร ดุเดือดสนั่นเมือง เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าพรรคการเมืองโดยตัวแทนบ้านใหญ่ส่งเครือญาติ สส.ลงสมัครและส่งหัวคะแนนลงทุกกลุ่มทุกอำเภอเพื่อไปคัดเลือกตัวจริงของตนเอง ดังนั้น ผู้สมัครหลายกลุ่มหลายอำเภอจำนวนมากจึงเป็นเพียงหัวคะแนน ไม่ใช่ผู้ต้องการลงสมัครเพื่อเป็น สว. เอง โดยผู้สมัครหลายคนหลายกลุ่มไม่ตรงตามกลุ่มอาชีพและเป็นเพียงชาวบ้านตาสีตาสาธรรมดาที่ถูกครหาว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเสียสละเงิน 2,500 บาทมาลงสมัคร สว. เพื่อทำหน้าที่ แต่ถ้าเป็นผู้นำเกษตรกรตัวจริงต้องยกย่อง แต่หลายกลุ่มประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. ชาวบ้านทั่วไปที่น่าจะเป็นหัวคะแนนของบ้านใหญ่ เพราะผลคะแนนเลือกกลุ่มและเลือกไขว้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเลือกหัวคะแนนในระดับอำเภอ เพื่อไปเป็นหัวคะแนนในระดับจังหวัด

นายเมธา กล่าวอีกว่า 4.ในเขตการเลือกตั้งหลายอำเภอ มีผู้สมัครลงเกือบทุกกลุ่มที่สามารถสรรหามาลงได้ ตนได้คุยกับบางคนที่ถูกขอให้ลงบางกลุ่มโดยจ่ายค่าสมัครให้และให้ข้อมูลชัดเจนแต่ขอสงวนนาม ในจังหวัดที่มีการขนคนลงและจ่ายค่าตอบแทน กกต. น่าจะสอบสวนได้ไม่อยากโดยขอให้ กกต. สืบสวนเส้นทางการเงินในบัญชีธนาคาร และหรือค่าสมัครที่ท่านได้จากใดมาเป็นเงินสด หากตอบคำถามไม่ได้ ก็เชื่อว่ามีการฮั้วกันอย่างแน่นอน

5.ผู้สมัครแต่ละกลุ่มหลายกลุ่มในจังหวัดยโสธรถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวคะแนนโดยตรง เนื่องจากมีการจัดการอย่างเป็นระบบและผลโหวตออกมาเป็นผลคะแนนตามที่คาดคะเนไว้ตั้งแต่ต้น (ล็อกคะแนนโหวต) แม้จะจับฉลากได้สายไหนทั้ง 20 กลุ่ม สายละ 4-5 กลุ่ม ก็สามารถมาเจอกันได้ทุกกลุ่ม เนื่องจากมีการล็อกเป้าหมายและล็อกคนไว้แล้วในแต่ละกลุ่มให้รับทราบกัน โดยให้หัวคะแนนแต่ละกลุ่มเลือกตามรายชื่อที่ล็อคไว้ในกลุ่มอื่นที่ตนเองจับสายได้ ผลการสังเกตการณ์เลือก สว.สาย ง. อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม 6, 8, 10 และ 20 ผลการเลือกออกมาเป็นที่ชัดเจนว่าทั้ง 4 กลุ่มเลือกคนที่ล็อคไว้แล้วทั้ง 3 คนที่ส่งมาลงสมัครทั้ง 4 กลุ่ม โดยทั้ง 4 กลุ่มเลือกเหมือนกันหมด เข้าร่วมทั้งหมดตามเป้าหมาย เป็นผลให้ผู้สมัครอิสระที่มีเพียง 2 คน และเป็นตัวเต็งหลุดไปโดยปริยาย เพื่อสกัดผู้สมัครอิสระและส่งหัวคะแนนไปเลือกตัวจริงระดับจังหวัดต่อไป

นายเมธา กล่าวอีกว่า 6.จากการสังเกตการณ์เลือก สว.สาย ง. อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม 6, 8, 10 และ 20 นั้น ผู้สมัครหลายคนกล่าวว่าอยากกลับบ้านและรู้สึกเสียเวลาที่ต้องรอนาน ผู้ใหญ่บ้านในบางกลุ่มบอกว่ากามั่วๆ ไปไม่รู้ใครเบอร์ไหน แต่ลืมเลือกผู้สมัครอิสระที่เหมาะสม แต่ผลการเลือกตั้งกลายเป็นว่า ผลออกมาเหมือนกันหมด ผู้สมัครที่ต้องการกลับบ้านเพราะแค่มาลงเลือกนั้นเข้ารอบทั้งหมดรวมถึงผู้ใหญ่บ้านด้วย การนับคะแนนสาย ง. มีผู้สมัครกลุ่ม 8 มีเพียงคนเดียวทำให้ทราบว่าเขาเลือกใครในกลุ่มไหนบ้าง เนื่องจากการหย่อนบัตรเลือกตั้งแม้ทำในกล่องรวมในช่วงแรก แต่ตอนนับคะแนนเสร็จได้มีการแยกเก็บเป็นตะกร้าแต่ละกลุ่มแทน ทำให้ผู้สมัครทั้งหมดสามารถทราบได้ทันทีว่าใครกลุ่มไหนเลือกใครหรือไม่เลือกใครบ้าง ถือเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ลับ นอกจากนี้ ข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้สมัครต้องตัดสินใจเลือกตามโพล น่าจะมาจากในคูหาการเลือกตั้งหลายสาย มีผู้สมัครหลายคนจดบันทึกผลการเลือกตั้งทั้ง 4 สาย คล้ายการเช็กชื่อ รวมถึงเจ้าหน้าที่บางคนหยิบโทรศัพท์ถ่ายผลการนับคะแนนในแต่ละกลุ่มทันที

เลขาฯ ครป. กล่าวต่อว่า 7.ผู้สมัครอิสระบางคนที่คาดว่าจะมีคะแนนเสียงอย่างน้อย 4 เสียงจาก 8 เสียง ในรอบไขว้ เนื่องจากการพูดคุยแนะนำตัวกันตามกติกาทำให้ทุกคนเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวแทนอำเภอ แต่ผลการเลือกตั้งในทางลับแต่ไม่ลับจริงเป็น 0 เสียง เนื่องจากทุกคนต้องลงคะแนนตามเป้าหมายที่ถูกส่งมาลงคะแนนให้ เพราะชาวบ้านหลายคนที่มาสมัคร สว. เชื่อได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเสียเงินลงสมัคร 2,500 บาทได้เอง แน่นอน เครือญาติ สส.บ้านใหญ่ได้ไปต่อในกติกานี้ ขณะที่ในบางสายที่ได้คะแนนเท่ากัน นั้น มีคนต้องการสละสิทธิเพื่อที่จะให้อีกคนได้ไปต่อโดยไม่ต้องจับสลากอีกด้วย

8.ขณะนี้ ผู้สมัครอิสระในเขต อ.ทรายมูล และ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ได้พบข้อบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบ ไม่เป็นไปในทางลับ และขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้สมัครหลายกลุ่มอาจเกิดการฮั้วกัน จึงได้ให้ปากคำกับ กกต. และฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีการไต่สวนและการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งในพื้นที่ต่อไป หากพบหลักฐานว่าทุจริตจริง อาจทำให้การเลือก สว. ในระดับอำเภอเป็นโมฆะต่อไป ทำให้สนามการเลือก สว. จังหวัดยโสธรหนนี้ จึงเดือดสนั่นตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากถูกครหาว่ามีการล็อกตัวไม่ต่างจากล็อกเลข ภายใต้กติกาที่มีการกล่าวหาว่า ผู้สมัครหลายคนอาจรับเงินมาลงคะแนน รวมถึงพรรคการเมืองหนึ่งคุมมหาดไทย ส่วนอีกพรรคการเมืองหนึ่งคุม อสม.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ได้ยื่นฟ้อง ผอ.การเลือก สว. อ.ทรายมูล ต่อศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลนัดพิจารณาฟังคำสั่งศาลในวันที่ 13 มิ.ย. นี้ เวลา 09.00 น. ที่ศาลยโสธร ขณะที่นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต สว.ยโสธร ได้ยื่นฟ้อง ผอ.การเลือก สว. อ.เลิงนกทา ต่อศาลศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้งเช่นกันใน และรอฟังคำสั่งต่อไป.