เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม. และโฆษ กกทม. กล่าวถึง โครงการกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง (ล้อ-ราง-เรือ) ว่า ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญและเห็นความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพงานจราจรและความปลอดภัยตามนโยบายเดินทางดี โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งเน้นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินรถจุดสำคัญ 48 จุด อย่าง บริเวณสถานีรถไฟฟ้า จุดจอดแท็กซี่ชั่วคราว ท่าเรือ ป้ายรถประจำทาง โดยติดตั้งกล้องวงจรปิด จำนวน 192 ตัว

ทั้งนี้ ระบบจะเชื่อมโยงสัญญาณเข้าสู่ศูนย์ควบคุมกลาง ณ ศูนย์ควบคุมระบบจราจร กทม. (เสาชิงช้า) เพื่อบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด โดยสามารถบันทึกภาพได้สูงสุด 30 วัน

โฆษก กทม. กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลที่ได้จากกล้องวงจรปิดจุดเปลี่ยนถ่ายเดินทางสามารถใช้ Software (LPR) ตรวจสอบรายละเอียดลักษณะทางกายภาพของบุคคล เช่น เพศ สีผิว รูปร่าง เสื้อผ้าที่สวมใส่ และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการวางวัตถุต้องสงสัยและรายละเอียดลักษณะทางกายภาพของวัตถุได้ ไปจนถึงตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนยานพาหนะ กรณีที่มีการจอดรับ-ส่งผู้โดยสารหรือประชาชน

นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบเรียกรถบริการสาธารณะอัจฉริยะ โดยระบบสามารถบันทึกภาพของผู้ใช้บริการและทะเบียนรถบริการสาธารณะที่ให้บริการ หากเกิดเหตุผู้โดยสารหรือผู้ให้บริการ ระบบสามารถติดตามผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี หรือเผื่อกรณีลืมสัมภาระก็สามารถติดตามคืนได้ ขณะนี้โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดครบแล้ว พบว่าสามารถใช้งานได้ดีทุกจุด

“เชื่อว่าโครงการดังกล่าวฯ เพิ่มความสะดวก และคุณภาพชีวิตผู้ใช้และผู้ให้บริการที่รับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณจุดรับส่งปลอดภัย ให้มั่นใจในความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยในเฟส 2 เตรียมติดตั้งเพิ่มเติมอีก 50 จุดทั่ว กทม. ด้วย” โฆษก กทม. กล่าว.