สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ว่า การศึกษาระบุว่า ช้างเรียกหากันและกันด้วยชื่อเฉพาะของแต่ละตัว ซึ่งพวกมันประดิษฐ์ขึ้นเองสำหรับเพื่อนในฝูง ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น โลมาและนกแก้ว ที่พูดคุยกันด้วยการเลียนแบบเสียงของสัตว์อื่น ๆ จึงทำให้ช้างอาจเป็นสัตว์ชนิดแรก ๆ นอกจากเหนือจากมนุษย์ ที่มีการใช้ชื่อ

สำหรับการศึกษาครั้งใหม่ ทีมนักวิจัยนานาชาติใช้อัลกอริธึมของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อวิเคราะห์เสียงเรียกของช้างสะวันนาแอฟริกา 2 ฝูงในเคนยา โดยการวิจัย “ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าช้างใช้เสียงร้อง ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละตัวเท่านั้น แต่พวกมันสามารถรับรู้ และตอบสนองต่อเสียงเรียกได้ และไม่สนใจเสียงเรียกชื่อช้างตัวอื่น” นายไมเคิล ปาร์โด นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด ในสหรัฐ กล่าว “สิ่งนี้บ่งชี้ว่าช้างสามารถระบุได้ว่า เสียงเหล่านั้นเรียกหามันหรือไม่ แม้เป็นแค่การส่งเสียงขึ้นมาเฉย ๆ”

นักวิจัยค้นหาเสียงของช้าง ซึ่งบันทึกไว้ในเขตสงวนแห่งชาติแซมบูรูของเคนยา และอุทยานแห่งชาติอัมโบเซลี ระหว่างปี 2529-2565 เอไอช่วยให้พวกเขาค้นพบเสียงเรียกของช้างที่แตกต่างกัน 469 แบบ ได้แก่ ช้าง 101 ตัว ที่ส่งเสียงเรียก และอีก 117 ตัว ที่ตอบรับ พวกเขาพบว่า ช้างส่งเสียงได้หลากหลาย ตั้งแต่เสียงที่ดังเสมือนแตร ไปจนถึงเสียงที่ก้องต่ำจนมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน

นอกจากนั้น ชื่อเหล่านี้ไม่ใช่แค่การเรียกเฉย ๆ แต่มักใช้ในการเรียกจากระยะไกล หรือเมื่อช้างผู้ใหญ่เรียกลูกช้าง ซึ่งช้างที่โตเต็มวัยมีแนวโน้มจะใช้ชื่อมากกว่าช้างเด็ก จึงมีการสันนิษฐานว่า ช้างอาจใช้เวลาหลายปี ในการพัฒนาความสามารถพิเศษนี้

การศึกษาในวารสารเนเจอร์ อีโคโลจี แอนด์ อีโวลูชัน ระบุว่า วิธีเรียกหากันซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ “เสียงความถี่ต่ำที่ประสานกันอย่างดี” โดยเมื่อนักวิจัยเล่นแผ่นเสียงของช้าง ที่เป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว พวกมันมีการตอบสนองเชิงบวก และมีความ “กระตือรือร้น”

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยากลับตรงกันข้าม เมื่อทีมนักวิจัยเสียงเรียกชื่อช้างตัวอื่น ต่างจากนกแก้วและโลมา ช้างไม่ได้เลียนแบบเสียงเรียกของผู้ถูกเรียกเท่านั้น สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าช้าง และมนุษย์เป็นสัตว์เพียงสองตัวเท่านั้น ซึ่งรู้จักตั้งชื่อที่ “กำหนดเอง” ให้กันและกัน แทนการเลียนเสียงของอีกฝ่าย

“หลักฐานเหล่านี้บ่งบอกว่า พวกมันสามารถคิดเชิงนามธรรม” นายจอร์จ วิตเทอไมเยอร์ กล่าว ทั้งนี้ นักวิจัยเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นกำเนิดของวิวัฒนาการความสามารถในการเรียกชื่อ เนื่องจากบรรพบุรุษของช้าง มีวิวัฒนาการแยกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์จำพวกวาฬ เมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน

นายแฟรงก์ โป๊ป ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรอนุรักษ์ช้าง “เซฟ ดิ เอเลแฟนต์ส” กล่าวว่า แม้มนุษย์และช้างมีความแตกต่าง แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น การขยายครอบครัวผ่านการมีสังคม ซึ่งถูกสนับสนุนโดยพัฒนาการทางสมองขั้นสูง เขาอธิบาย “การที่ช้างใช้ชื่อซึ่งกันและกัน เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ให้กับการเปิดเผยเรื่องราวของพวกมัน”.

เครดิตภาพ : AFP