เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 มิ.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์ ทนายความบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อแบรนด์ ITCHA (อิชช่า) พร้อมด้วย เจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัท และผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบที่ได้มาจากการล่อซื้อ มาส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนอันตรายในผลิตภัณฑ์ว่ามีจริงหรือไม่ โดยมีนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้มารับตัวอย่าง พร้อมเข้าไปหารือกันภายในห้องรับรองราวๆ 1 ชั่วโมง ก่อนจะออกมาร่วมกันแถลงข่าว

นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า วันนี้ทางบริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์มาให้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจหาสารไซบูทรามีนซึ่งเป็นสารอันตราย อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำ 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องโฆษณาเกินจริง ไม่เกี่ยวข้องกับครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 2. คดีความที่เกิดขึ้นไปแล้วที่เกี่ยวเนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว จะแยกส่วนกันไม่เกี่ยวข้องการยื่นตรวจสอบครั้งนี้ และ 3. การยื่นครั้งนี้ทางทนายความและเจ้าของบริษัทมา ยื่นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัท และมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน เป็นสินค้าลอกเลียนแบบ มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือไม่ กับสินค้าของผลิตภัณฑ์เองในหลายลอตผลิต เพื่อให้รู้ว่ามีสารไซบูทรามีนหรือไม่ เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งจากนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำการตรวจสอบและทราบผลภายใน 7-10 วัน

“ย้ำว่า ผลออกมาอย่างไร ไม่เกี่ยวหรือกระทบกับผลสืบสวนทางคดีที่เกี่ยวข้องกัน และขอย้ำอีกว่า ผลตรวจเฉพาะที่นำมาส่งครั้งนี้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับลอตอื่นๆ แต่อย่างใด” นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวและว่า หากโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งไม่รู้ว่าผลิตผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง หากมีการร้องเรียนมา ก็ไม่แน่ เราจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงงานผลิตเพิ่มเติมด้วย

นพ.พิเชฐ กล่าวว่า การตรวจหาสารไซบูทรามีนจะใช้เวลาตรวจ 7-10 วัน โดยกรมฯ จะตรวจสอบเฉพาะตัวอย่างที่นำมาส่งเท่านั้น ผลที่ออกมาก็จะออกใบรายงานรับรองเพียงชิ้นนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้รับรองทั้งลอต หรือทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ไซบูทรามีน เป็นสารที่มีผลต่อจิตและประสาท ทำให้ไม่อยากอาหาร ไม่หิว แต่ผลข้างเคียงกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงหัวใจวาย เสียชีวิต

ด้านนายนิติธร กล่าวว่า ตัวอย่างที่นำมาส่งตรวจ เป็นลอตการผลิตของเดือน ก.พ., มี.ค. และเดือน เม.ย. 2567 ซึ่งนำมาจากโรงงาน เพราะบริษัทไม่ได้เก็บสต๊อกไว้ ทางโรงงานก็ส่งมาให้ ทั้งนี้ในแต่ละเดือนจะมีการผลิตหลายลอต ส่วนลอตที่ผลิตเมื่อเดือน ม.ค. 2567 นั้น ทางบริษัทได้มีการขายออกไปหมดแล้ว ยอดสั่งจองเยอะจนของขาดตลาด สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบเป็นการล่อซื้อมา ซึ่งปรากฏว่าเป็นการผลิตลอตเดือน ม.ค. แต่เรามาเจอเมื่อเดือน มี.ค. ทั้งๆ ที่ของจริง ที่ผลิตเมื่อเดือน ม.ค. นั้นขายไปหมดแล้ว ดังนั้นในเดือน มี.ค. ทางบริษัทจึงออกประกาศว่า ลอตการผลิตวันที่ 10 ม.ค. 2567 เป็นของปลอม และดำเนินการแจ้งความไปหลายครั้ง เพราะล่อซื้อหลายครั้ง ซึ่งขณะนี้คดีมีความคืบหน้าแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เนื่องจากกระทบกับคดี

“เดือน มี.ค. เราเห็นมีของปลอม ก็มีการล่อซื้อ พบว่า มีการลอกเลขลอตการผลิตของเดือน ม.ค. 2567 มาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ของเดิมจะมีลายเซ็นของดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบ ทางบริษัทเรียกสินค้าและเปลี่ยนแพ็กเกจใหม่เหมือนที่เคยแถลงไปก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนี้ทางเราได้ยกเลิกเลขการผลิตของเดือน ม.ค. ดังนั้น หากเจอผลิตภัณฑ์เลขลอตเดือน ม.ค. ถือว่าเป็นของปลอม 100% ขอให้แจ้งจับได้ทันที เพราะดูจากกล่อง แพ็กเกจไม่ใช่ของบริษัทอย่างแน่นอน” นายนิติธร กล่าวและว่า การนำมาตรวจสารครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าของบริษัท ทำถูกต้อง เนื่องจากโรงงานที่ผลิตทำหลายแบรนด์ หากทำไม่ดีก็กระทบหมด จากนี้หากผลตรวจออกมาแล้วไม่พบว่ามีการปนเปื้อสารไซบูทรามีน ทางบริษัทจะมีการปรับแพ็กเกจและวางจำหน่ายใหม่ ส่วนการปรับมาตรการป้องกันการลอกเลียนแบบนั้นยอมรับว่า เป็นเรื่องยาก จึงอยู่ที่ผู้บริโภค ไม่ควรซื้อนอกช่องทางที่ทางบริษัทกำหนด และไม่เห็นแก่ของราคาถูก ซึ่งเรื่องราคาเราไม่กังวลว่า จะมีการลักลอบเอาของปลอมมาอัพราคาเพื่อให้ดูเสมือนเป็นของจริง เพราะถ้าราคาเหมือนกัน แล้วจะไปเอาของลอกเลียนแบบมาขาย หรือไปซื้อของเลียนแบบทำไม อีกทั้งกลุ่มลูกค้าก็เป็นคนละกลุ่ม

เมื่อถามว่าหลังจากมมีเหตุการณ์นี้ ได้คุยกับ อย. หรือไม่ว่าสินค้าที่ตรวจมาจากไหน ทนายเจมส์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่ต้องขอบคุณ อย. เพราะเราทราบมีของปลอม ประกาศแจ้งเตือนตลอด แต่ไม่มีความคืบหน้า แต่พอ อย. ประกาศ พวกของปลอมปิดร้านหมด อย่างไรก็ตาม ก่อน อย. จะเผยแพร่ผลการตรวจพบไซบูทรามีน ทาง อย. ไม่ได้แจ้งเรื่องมาที่บริษัทแต่อย่างใด

เมื่อถามว่า นอกจากตรวจตัวอย่างที่บริษัทนำมาส่งให้ตรวจแล้ว หน่วยงานที่มีหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ จากท้องตลาดมาตรวจเพื่อเป็นการเปรียบเทียบด้วยหรือไม่ นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า ปกติมีการตรวจอยู่แล้ว ยิ่งมีประเด็นแบบนี้ ก็ยิ่งต้องมีการเก็บมาตรวจ ต้องดูว่ายังมีในท้องตลาดอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะลอตการผลิตเดือน ม.ค. แต่ลอตนั้นทางเจ้าของมีการเรียกเก็บหมดแล้ว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าคดี นายนิติธร กล่าวว่า มีความคืบหน้า และพอรู้ถึงกระบวนการกลุ่มที่จัดทำของลอกเลียนแบบอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลหรื่อไม่ว่า กลุ่มที่ทำสินค้าลอกเลียนแบบนั้นเคยทำแบบนี้มาก่อนหรือไม่ นายนิติธร กล่าว่า ตนเป็นทนายความให้หลายผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและขายดี ก็เคยพบมีการทำสินค้าลอกเลียนแบบ อย่างกรณีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวยี่ห้อดัง ก็พบว่าเป็นกลุ่มทุนจีน ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนี้ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนจีนด้วยหรือไม่ นายนิติธร กล่าว่า อันนี้ยังไม่ทราบ.