เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยอุทยานเทคโนโลยี มจพ. จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท เมอแรนติ กรีน สตีล (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย และ ดร. ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการกำกับดูแลสำนัก เศรษฐกิจ BCG และสำนักอุตสาหกรรมบริการ และ ดร.บุญนาค โมกข์มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดานิลี่ จำกัด ประเทศไทย ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี ลงนามความร่วมมือกับ Dr. Jur. Sebastian Langendorf ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เมอแรนติ กรีน สตีล (ประเทศไทย) จำกัด ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

สืบเนื่องจากคณะผู้บริหารจากบริษัท เมอแรนติ กรีน สตีล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เดินทางมาที่ มจพ. เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับรวมทั้งนำเยี่ยมชมอุทยานเทคโนโลยี มจพ. และมีการหารือเรื่องการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการรร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้พลังงานสีเขียว (Green Energy) เป็นพลังงานหลักในกระบวนการผลิตเหล็กของทางบริษัท ได้แก่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่ทำงานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cells) ที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานหลักในกระบวนการสร้างพลังงานไฟฟ้า การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีการบำบัดของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต (Waste Treatment Technology) นำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวโดยมีเป้าประสงค์การทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาทักษะด้านการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การประยุกต์งานวิจัยด้านพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมถึงการจัดฝึกอบรม การรับนักศึกษาเข้าฝึกงานและสหกิจศึกษา (CWIE)

ทั้งนี้ บริษัท เมอแรนติ กรีน สตีล (ประเทศไทย) จำกัด กำลังก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กที่มีคุณลักษณะที่เป็น Green Steel แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2570 โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการบรรลุเป้าหมายและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของทางบริษัท โดยมีคณะผู้บริหารและคณาจารย์ แขกผู้เกียรติจากสถานเอกอัครราชทูต และบุคลากรของบริษัท เมอแรนติ กรีน สตีล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมในพิธีลงนาม