นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 5-7 ต.ค. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมบนโครงข่ายทางหลวงที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องครอบคลุม 3 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย ชัยภูมิ และ ขอนแก่น

นอกจากติดตามสถานการณ์น้ำท่วมแล้วเพื่อให้กำลังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย เบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ เครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมทำงานได้เต็มที่ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือทางจังหวัดในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยเพราะถือว่าเกิดน้ำท่วมหนักกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทล. ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่มีพายุเตี้ยนหมู่ เริ่มวันที่ 23 ก.ย.-6 ต.ค.64 พบโครงข่ายทางหลวงได้รับผลกระทบทั้งหมด 35 จังหวัด 168 สาย สาเหตุมาจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ลำน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง และน้ำเอ่อล้นมาท่วมทางหลวงขยายเป็นวงกว้าง น้ำท่วมสูง คอสะพานขาด ทางขาด ถนนทรุดตัว และดินสไลด์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ

เนื่องจากเป็นพื้นที่มีภูเขาจำนวนมาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ทล. ต้องเข้าพื้นที่โดยเร็ว ในการอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง กรณีคอสะพานขาดให้ประสานศูนย์สะพาน 4 แห่งลงพื้นที่เร่งติดตั้งสะพานเหล็กชั่วคราว (สะพานเบลีย์) เพื่อให้เปิดการจราจรชั่วคราวก่อน โดยใช้งบฉุกเฉินของ ทล.ปีละประมาณ 200 ล้านบาท

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พบว่าบริเวณถนนที่เกิดน้ำท่วมมีสภาพเปลี่ยนไป โดยเฉพาะบริเวณสองข้างทาง ทำให้การระบายน้ำลงสู่ลำน้ำสาธารณะไม่เต็มที่ ดังนั้นต้องขุดลอกการระบายน้ำบริเวณสองข้างทางให้น้ำไหลลงสู่ลำน้ำสาธารณะได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้พบว่าจุดที่มีน้ำท่วมสูงคือบริเวณจุดกลับรถใต้สะพาน หรืออุโมงค์ที่อยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง

ดังนั้นให้พิจารณาติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติ หรือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงได้สั่งการให้แขวงทางหลวงในพื้นที่เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในระยะยาวตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เช่น กรณีคอสะพานขาดที่ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นสะพานข้ามลำน้ำ หรือช่องลอดระบายน้ำ ต้องขยายช่องลอดระบายน้ำให้มีขนาดยาวและกว้างขึ้น

จากเดิมจุดนั้นอาจมีช่องลอดระบายน้ำ 2 ช่วง ต้องขยายเพิ่มเป็น 4 ช่วง หรือเปลี่ยนจากท่อกลมให้เป็นท่อเหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมกำชับว่าการแก้ปัญหาต้องแก้แบบถาวร และไม่ให้เกิดบนเส้นทางนั้นๆ ซ้ำอีก ไม่ใช่แก้จุดนี้แล้วในอนาคตจะเกิดอีกจุด

ทั้งนี้ ทล. อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เพื่อเตรียมแผนฟื้นฟูเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย และทำแผนฟื้นฟูเสนอมาแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการฟื้นฟูครั้งนี้ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท คาดว่าช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ ถ้าฝนไม่ตกลงมาแล้ว ทล. จะสรุปแผนฟื้นฟูน้ำท่วมเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอของบกลางปี 65 มาดำเนินการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือแล้วเสร็จภายในปีงบ 65 ต่อไป