ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมนำคณะทูตโลกมุสลิม 12 ประเทศ ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เยี่ยมชมเมืองงามหลากวัฒนธรรม วิถีชีวิตประชาชน ของดีชายแดนใต้ พูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจและนักศึกษาในพื้นที่ ในกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คณะทูตกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับสถานการณ์ใน จชต. ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงเชิงบวกเกี่ยวกับสถานการณ์ในชายแดนใต้แก่คณะทูต 12 ประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ และแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน จชต. โดยคณะทูต 12 ประเทศที่ลงพื้นที่ 3 จชต. ในวันที่ 11-13 มิ.ย. 2567 ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตและผู้แทนต่างประเทศประจำประเทศไทย 8 คน ได้แก่เอกอัครราชทูตบรูไน เอกอัครราชทูตอียิปต์ เอกอัครราชทูตอิหร่าน อุปทูตประเทศมาเลเซีย มัลดีฟ ไนจีเรีย และรองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย รองหัวหน้าสำนักงานสถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน และมีผู้ติดตาม 7 คน

ในส่วนเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำการในต่างประเทศ มีจำนวน 4 คน คือเอกอัครราชทูตประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เอกอัครราชทูตประจำกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การทางเดินทางเยือนพื้นที่ของเอกอัครราชทูตประเทศโลกมุสลิมนั้น มีเป้าหมายสื่อสารข้อเท็จจริงในพื้นที่สู่สายตาชาวโลก ที่สำคัญเพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอดความสัมพันธ์ และยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ เนื่องจากจะมีการสื่อสารแบบ two-way communication ในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ ซึ่งคณะฯ ที่จะเดินทางมาในพื้นที่ครั้งนี้ อนุมานได้ว่ามีบทบาทต่อความคิดต่อประเทศโลกมุสลิม ดังนั้นรัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของการลงทุน พร้อมนำเสนอความสามารถและศักยภาพของพื้นที่ให้คณะได้เห็น เพื่อเป็นโอกาสที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ศอ.บต. ปักหมุดให้คณะฯ ได้ลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด โดยปัตตานี จะมีการจัดแสดงนิทรรศการผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายชบาปัตตานี” ผลิตภัณฑ์ชุมชนฮาลาล ณ โรงแรมซีเอส เยี่ยมชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี พร้อมพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นเดินทางต่อไปยังกลุ่มยาริงบาติก อำเภอยะรัง ชมการสาธิตการทำผ้าบาติก จากนั้นเดินทางข้ามไปยังจังหวัดยะลา เพื่อรับ welcome drink โดยเชฟ table กลุ่มลูกเหรียง ชิมเมนูอาหารท้องถิ่นที่รังสรรค์พิเศษขึ้นโต๊ะอาหาร

นอกจากนี้ในจังหวัดยะลา ศอ.บต. ได้ปักหมุดให้คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมได้มีโอกาสพูดคุยกับหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต. และเทศบาลนครยะลา ณ ทีเคปาร์คยะลา พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ จชต. เข้าพูดคุยหารือเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าชายแดนใต้ไปสู่กลุ่มประเทศมุสลิม และพบปะกับกลุ่มสถาบันการศึกษาที่มีความร่วมมือด้านการศึกษากับกลุ่มประเทศดังกล่าว เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาในมิติต่างๆ ระหว่างคณะทูตกับตัวแทนภาคราชการและเอกชน จากนั้นออกเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารู ชุมชนพหุวัฒนธรรมต้นแบบ โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่แสดงออกถึงสังคมพหุวัฒนธรรมที่เด่นชัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างดีเยี่ยม สำหรับจังหวัดนราธิวาส ศอ.บต. กำหนดนำคณะทูตเดินทางไปยังด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อเยี่ยมชมโครงการพัฒนาความร่วมมือยกระดับการค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย เพื่อรับฟังการนำเสนอข้อมูลด้านการค้า การส่งออก-นำเข้าสินค้าผ่านด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก และประเด็นอื่นๆ อีกทั้งมีกำหนดนำคณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอ่าน ณ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการและให้การสนับสนุนโดยรัฐบาลในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

จุดสุดท้ายที่ ศอ.บต. ได้กำหนดนำพาคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมไปเยี่ยมชมคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับฟังโครงการต้นแบบอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญ อาทิ โครงการแกล้งดิน นำเสนอการจัดการทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านโครงการพระราชดำริในพื้นที่ ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้เชิญชวนประชาชน จชต. ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. ร่วมกันนำภาพความสวยงามของศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในชายแดนใต้ พื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย เผยแพร่สู่สายตาชาวมุสลิมและคนทั่วโลก ให้ได้เห็นและเข้าใจว่า ที่นี่ชายแดนใต้ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข