การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ในวันที่ 12 มิ.ย. 67 นี้ มีสำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งคาดการณ์ผลการประชุมไว้เป็นทิศทางเดียวกันว่า กนง.จะมีมติไม่เอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ 2.50% ต่อเนื่อง และมีโอกาสปรับลดลงได้ในปลายปี 67 หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

“Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย” ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับคาดการณ์ของทาง กนง.

แต่ กนง.อาจเปิดกว้างได้ว่า หากเศรษฐกิจชะลอลงกว่าคาดไปมาก เช่น การเบิกจ่ายภาครัฐมีปัญหา ภาคการส่งออกยังคงซบเซากว่าคาด รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายชัดเจน อาจทำให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนประเมินว่า กนง. มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดการณ์ในการประชุม กนง. วันที่ 12 มิ.ย.นี้ คาด กนง. ยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง และมีแนวโน้มส่งสัญญาณไม่แตกต่างจากผลการประชุมรอบที่แล้ว เนื่องจาก กนง. ส่งสัญญาณในการประชุมรอบที่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้นโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง ขณะที่ กนง. มีแนวโน้มให้น้ำหนักต่อเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงความผันผวนสูงของค่าเงินบาท จากตลาดที่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด

“กนง.คงรอเฟดเพื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3% ภายในสิ้นปีนี้ ประกอบกับแรงกดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าจากแนวโน้มการคงดอกเบี้ยสูงยาวนานกว่าคาดของเฟด”

“โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” ระบุว่า กนง.จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิ.ย. ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังสอดคล้องกับที่ กนง.ได้เคยประเมินไว้ ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นการกลับเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากราคาพลังงาน ผักสดและไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น