ล่าสุดทางคณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “พ.ร.บ.อากาศสะอาด วาระประเทศไทย..วาระโลก : แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ลดโลกเดือด” เบื้องต้นจะประกาศใช้วันที่ 7 ก.ย. วันอากาศสะอาดสากล จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งมีหลายมุมมองที่น่าสนใจ

เริ่มจาก “จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … มองว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ เป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ และรัฐบาลได้ถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันในฤดูฝุ่นที่จะมาถึง ระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการกำลังเร่งพิจารณา

พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ บริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเผาในที่โล่ง ภาคป่าไม้ และหมอกควันข้ามแดน มีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วน ขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ให้ทันบังคับใช้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย” นายจักรพล กล่าว

“นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 4,400,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก และ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนใต้ มีผู้ป่วยฯ มากกว่า 400,000 คน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษ PM2.5

ด้าน “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. วุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อ พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎหมายลูก ระเบียบ มาตรการต่าง ๆ ซึ่งจะเป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่ที่มีการเผาใหญ่ที่สุด อยู่ในเขตป่า 64% โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ รองลงมาคือพื้นที่การเกษตร 26.8% โดยเฉพาะนาข้าว ที่มีการเผาฟางช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งที่สามารถใช้ปรุงดิน เลี้ยงสัตว์ แปลงเป็นชีวมวลได้ จึงต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าฟางข้าวทั้งระบบ

ส่วน “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” กรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อน เกินกำลังกรมควบคุมมลพิษหน่วยงานเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงาน หลายเครื่องมือ ไม่สามารถจัดการได้เฉพาะในช่วงฤดูฝุ่น 3 เดือน แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี ด้วยสูตร 8-3-1 คือ 8 เดือนช่วงดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไข ออกแบบกลไก วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ลดการเผา 3 เดือนช่วงเผชิญเหตุ การเฝ้าระวังจุดความร้อน การบังคับใช้กฎหมาย และ 1 เดือนช่วงฟื้นฟู เยียวยา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เชื่อว่า พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะเรื่องกลไกการทำงาน ระบบงบประมาณ ลดปัญหาความล่าช้า โดยหวังว่าวันที่ 7 ก.ย. “วันอากาศสะอาดสากล” พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้แล้ว

ขณะที่มุมมองด้านวิชาการ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มองว่าพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ… ยังเกาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากหากมองวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน กลิ่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสร้างความเสียหายต่อประชาชน แบ่งที่มามลพิษ 6 แห่งคือ อุตสาหกรรม การเผา ก่อสร้าง ยานพาหนะ มลพิษทางอากาศที่อยู่นอกประเทศไทย และแหล่งมลพิษอื่น ๆ ผมมีข้อคิดเห็นสำหรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ดังนี้ 1.ดีต่อประชาชนไม่ดีต่อภาคการผลิต พ.ร.บ.นี้จะส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตของประชาชนไทยที่ไม่ต้องกังวลจากมลพิษที่จะเกิดขึ้น แต่สำหรับภาคการผลิตแล้ว ไม่มีแนวทางในการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพราะ GHG ที่ปล่อยออกมาก็กระทบต่อสุขภาพกายและจิตของประชาชนเช่นกัน อย่างไรก็ตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.ก็เป็นเรื่องสำคัญ

2.คำจำกัดความ “มลพิษ” ที่ไม่ตรงกัน พ.ร.บ.อากาศสะอาศฯ ให้ความสำคัญกับคำว่า “มลพิษ” หมายถึงมลพิษที่มาจาก ฝุ่น ควันและกลิ่นเป็นหลัก แต่ไม่ได้พูดถึงการปล่อย “GHG” ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและทุกภาคส่วนกำลังได้รับผลกระทบ

3.กลับหัวกลับหาง ประเทศไทยเริ่มต้นจากคำว่า “มลพิษ” หากประเทศไทยเริ่มต้นจากคำว่า “แหล่งที่มา GHG” ก็จะครอบคลุมการลดมลพิษไปในตัว และที่สำคัญทำให้ภาคผลิตมีทิศทางในการปรับตัวเพื่อลด GHG อย่างชัดเจน 4.ขาดภาคเกษตรกรรม ในจำนวนแหล่งที่มามลพิษทั้งหมด 6 แห่งนั้น ภาคเกษตรเป็นภาคที่มีการปล่อยมลพิษทั้งในรูปคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน โดยเฉพาะการปลูกข้าวและปศุสัตว์มากที่สุด การกำหนดการเผาใน พ.ร.บ. นั้นก็โอเค แต่การเผาเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษเพียง 3.7% เท่านั้น 5.เพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดศักยภาพการแข่งขัน ภาคการผลิตจากแหล่งที่มาของมลพิษ จะถูกลงโทษโดยการปรับหากปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นต้นทุน ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดมลพิษที่เกิดขึ้น ต้นทุนในข้อนี้จะเป็นภาระของผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs มาก ที่ยังขาดแคลนเงินทุนในการทำธุรกิจ 6.ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายลด GHG ไทยมีพันธสัญญากับ UNFCCC ที่ต้องลดคาร์บอนสุทธิและ GHG สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้ช่วยแผนดังกล่าว เพราะขาดการระบุตัวเลขที่สอดคล้องกับแผนการลด GHG ของประเทศ.