เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 10 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของอาคารที่ทำการ สภ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเกิดการแตกร้าวทั้งอาคาร จนตำรวจต้องหนีตาย ย้ายที่ทำงานไปยังหอประชุม สภ.อุบลรัตน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอาคารไปประมาณ 20 เมตร โดยเป็นอาคารหอประชุมเก่าแล้วนำมารีโนเวทใหม่ จัดแบ่งล็อกทุกแผนกให้ตำรวจทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชน

จากการสำรวจอาคารโรงพักที่เสียหาย พบว่าเป็นอาคารที่ทำการ สภ.อุบลรัตน์ 4 ชั้น ชั้นที่ 5 เป็นดาดฟ้าและเป็นที่ตั้งแท็งก์น้ำ ส่วนชั้นที่ 4 เป็นห้องประชุมและห้องสันทนาการ ชั้นที่ 3 เป็นงานสืบสวนทั้งหมด ชั้นที่ 2 เป็นห้อง ศปก. ห้องวิทยุสื่อสาร ห้องอุปกรณ์กำลังพล และห้องงานปราบปราม ส่วนชั้นที่ 1 เป็นงานสอบสวน ห้องขังผู้ต้องหา รับแจ้งความ และงานจราจร

โดยพบว่าที่บริเวณทางขั้นบันไดที่จะขึ้นไปยังชั้นที่ 2 จะมีป้ายเตือนติดไว้ที่ทางขึ้นว่า ห้ามเข้า พื้นที่อันตราย อยู่ระหว่างระงับการใช้อาคาร และป้ายบอกว่า พื้นที่อันตราย ชั้น 4 โครงสร้างชำรุดปิดปรับปรุง  ซึ่งเมื่อเดินสำรวจพื้นที่ชั้น 2 พบว่า ห้องศปก.นั้น มีการรื้อสิ่งของออก และมีการใช้เหล็กกล่องสี่เหลี่ยม ค้ำยันคานของอาคารเอาไว้จำนวนมาก ส่วนพื้นอาคารชั้นบนปูนก็หลุดร่อนออกมาจำนวนมาก ซึ่งพบว่าในส่วนที่ซีเมนต์หลุด ออกมานั้น เหล็กเส้นเป็นสนิมทั้งหมด  และที่ห้องวิทยุสื่อสารก็ไม่ต่างกัน มีเสาที่เป็นเหล็กกล่องค้ำยันคานปูนเอาไว้เช่นกัน  นอกห้อง ศปก.และห้องวิทยุสื่อสารมีเศษวัสดุ และเก้าอี้ โต๊ะที่พังเพราะถูกฝ้าเพดานพังถล่ม ได้รับความเสียหายวางอยู่จำนวนมาก

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้เดินขึ้นไปยังชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นในส่วนของงานสืบสวน พบว่า ฝ้าเพดานพัง ผนังร้าว  ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ย้ายห้องทำงานไปที่ห้องประชุม สภ.อุบลรัตน์แล้ว ในส่วนของชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นห้องประชุมใหญ่และห้องสันทนาการนั้น พบว่า เสียหายอย่างหนักเช่นกัน ฝ้าเพดานพังหลุดลงมา คานร้าว จนไม่สามารถใช้งานได้

พ.ต.อ.ปวิช แสงอรุณ ผกก.สภ. อุบลรัตน์ เปิดเผยว่า ซึ่งอาคารที่ทำการ สภ.อุบลรัตน์ ที่เกิดการพังและแตกร้าวนั้น เป็นโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง สภ.อุบรัตน์เป็นหนึ่งในโรงพักที่ได้รับงบประมาณ 30 กว่าล้านบาท มาสร้างอาคารที่ทำการดังกล่าว เท่าที่ทราบมีการก่อสร้างอาคารที่ทำการอาคารที่ทำการสถานีตำรวจแห่งนี้ในปี 2554 แต่ล่มเพราะ ป.ป.ช. มีฟ้องร้องผู้รับเหมาการก่อสร้างจึงหยุดชะงักไป ต่อมาในปี 2556 เริ่มมีการก่อสร้างใหม่ และได้ผู้รับจ้างรายใหม่คือ หจก.แห่งหนึ่ง ในเมืองขอนแก่น โดยดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ในปี 2559 จากนั้นข้าราชการตำรวจก็เข้ามาทำงาน

พ.ต.อ.ปวิช แสงอรุณ ผกก.สภ. อุบลรัตน์ เปิดเผยอีกว่า พบความผิดปกติของอาคารในปี 2564 เพราะเพดานที่ชั้น 4 หลุดลงมา จึงมีการเสนอเรื่องไปยัง ภ.จว.ขอนแก่น เพื่อทำการซ่อมแซม  และในปี 2565 ก็เกิดคานร้าว ฝ้าเพดาน ห้องศปก.หลุดพังลงมาทั้งแถบ ห้องวิทยุสื่อสารที่อยู่ติดกันก็พังเช่นกัน โชคดีขณะที่เพดานพังลงมา ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ตำรวจจึงปลอดภัย ซึ่งมีการแจ้งไปยัง ภ.จว.ขอนแก่น และภาค 4 จนมีผู้รับเหมาที่เป็นคนสร้างอาคารมาทำการซ่อมแซมให้ 

ในช่วงปี 2564-2565 มีการเกิดซ้ำหลายครั้ง ในปี 2566 ในช่วงเดือนมิถุนายน เกิดการผุงพังลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รายงานไปยัง ภ.จว.ขอนแก่นและภาค 4 อีกครั้ง รวมทั้งทำหนังสือไปยังเทศบาลตำบลอุบลรัตน์ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่โยธา เข้ามาดู เพราะอยากทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจพบความผิดปกติของปูน จึงได้ทำหนังสือถึงโยธาธิการจังหวัดขอนแก่น มาตรวจสอบพบความเสียหายและอันตรายที่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำ เพราะคานของอาคารที่ชั้น 2 ร้าวทั้งหมดและอันตรายมาก โยธาธิการจังหวัดขอนแก่น แนะนำให้ทำหนังสือถึงอาจารย์คณะวิศวกรรม มข. และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เขามาตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างปูนไปตรวจ วัดแรงอัดคอนกรีตของอาคาร ได้แจ้งผลตรวจกลับมาว่า สาเหตุของการแตกร้าวเนื่องจากคอนกรีตไม่มีคุณภาพ ไม่มีความทึบน้ำเพียงพอ ทำให้ความชื้นเข้าสู่เหล็กเส้น ทำให้เหล็กเส้นเป็นสนิม ขยายตัว ทำให้คอนกรีตแตกร้าวออก และกำลังอัดของคอนกรีตมีค่าน้อย ไม่ตรงกับที่ระบุในแบบการก่อสร้าง.