เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทางกรมศิลป์อยากแจงว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดอุโมงค์เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฏคม ปี 2566 และไปพบว่าปูนปั้นยักษ์ที่เฝ้าอยู่บริเวณทางเข้าพระธาตุชำรุดทรุดโทรม จึงประสานให้ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เข้าไปสำรวจว่าสามารถบูรณะซ่อมแซมได้หรือไม่ เพราะวัดดังกล่าวมีพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางมาเยี่ยมเยือนจำนวนมาก เกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้ที่พบเห็น

เจ้าอาวาสชี้งานซ่อมรูปปั้นยักษ์ 400 ปี ‘กรมศิลป์’ เป็นคนทำ วัดไม่เกี่ยวได้แต่ยืนดู

ผู้ว่าฯ ชี้กรมศิลป์ซ่อมรูปปั้นยักษ์ไม่เพี้ยนแค่ดูใหม่ อาจารย์ม.ดังติง ‘ไม่ผิดแค่ไม่เหมาะ’

ทั้งนี้หลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ก็พบว่าประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ทรุดโทรมจริง จึงวางแผนการบูรณะโดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ บูรณะโดยการอนุรักษ์รักษาสภาพ หรือ บูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพ แต่เนื่องจากโบราณสถานแห่งนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจ และหลงเหลือองค์ประกอบของศิลปกรรมค่อนข้างมาก จึงพิจารณาบูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้โบราณสถานอยู่ได้นานอีกหลาย 10 ปี เพราะรูปปูนปั้นยักษ์ตั้งอยู่กลางแจ้ง ส่วนพื้นที่วัดตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพมีสภาพป่าดิบชื้น

การบูรณะเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ได้ใช้ปูนพอกองค์ยักษ์ แต่ใช้น้ำปูนไล้ผิวบางๆ เพราะผิวเดิมมีความพรุนจนเสื่อมสภาพ เนื้อปูนมีรอยแตกจนน้ำซึมเข้าไปสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างด้านในไม่สามารถรักษาสภาพเดิมไว้ได้ รวมทั้งมีเชื้อราดำ และวัชพืชตระกูลตะไคร้น้้ำขึ้นเกือบทั้งองค์ หากยังรักษาสภาพเดิมไว้ไม่นานปูนปั้นยักษ์ก็จะชำรุดทรุดโทรมเพิ่ม

การบูรณะก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด ตามคติความเชื่อประติมากรรมปูนปั้นยักษ์แบบลอยตัวทวารบาล เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ เพื่อปกปักรักษาคุ้มครองและมีอาวุธประจำกายถือไว้ เช่น กระบอง จึงสันนิษฐานรูปแบบองค์ยักษ์ที่นั่งเฝ้าประตูทางเข้าสู่พระธาตุตามหลักฐาน และปั้นเสริมให้เต็มเพื่อให้องค์ยักษ์มีความสมบูรณ์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมตามคติความเชื่อ

การบูรณะองค์ยักษ์ทั้ง 2 ตนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งองค์ยักษ์จะค่อยๆ เก่าไปตามธรรมชาติ เพราะเราไม่ได้เคลือบสารกันเชื้อราไว้ ไม่อยากเสี่ยงใช้สารเคมีในการบูรณะเนื่องจากยังไม่มีผลสรุปหรือเคสตัวอย่างว่า การใช้สารเคมีในการบูรณะจะไม่ส่งผลกระทบระยะยาว จึงเลือกใช้วิธีการบูรณะแบบโบราณ

สำหรับประติมากรรมปูนปั้นยักษ์มีอายุประมาณ 100 กว่าปีไม่ถึง 400 ปี ขณะที่วัดอุโมงค์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยผัง ตั้งแต่ปี 2478 จึงต้องประเมินอีกครั้งว่า สิ่งก่อสร้างที่อยู่ในผังตามแนวเขตที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ มีสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมใดเป็นโบราณสถาน และสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมใดสร้างขึ้นใหม่ภายหลัง.