สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ว่าย้อนกลับไปเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา สภาแห่งชาติของสิงคโปร์ผ่านกฎหมาย ที่มุ่งเป้าไปที่การปราบปรามการจำหน่ายและใช้งานซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ “ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์” โดยเฉพาะ “คนกลาง” ซึ่งทำหน้าที่จัดหาซิมการ์ดให้กับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพซึ่งสวมรอยจดทะเบียนซิมการ์ด ด้วยการใช้หลักฐานยืนยันตัวตนที่มาจากการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ แล้วนำไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกทอดหนึ่ง


ขณะเดียวกัน บุคคลซึ่งจดทะเบียนซิมการ์ดด้วยหลักฐานของตัวเอง แต่นำไปมอบให้มิจฉาชีพใช้งาน และร้านค้าปลีกที่จำหน่ายซิมการ์ดครั้งละจำนวนมาก โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ซื้อ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้ด้วย

The Straits Times


นอกจากนั้น บุคคลใดที่ใช้ซิมการ์เพื่อก่ออาชญากรรม หรือครอบครองซิมการ์ดตั้งแต่ 11 ซิมขึ้นไป ถือเป็น “บุคคลต้องสงสัย” และพนักงานสอบสวนมีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย ที่จะสอบสวนเจตนาการก่ออาชญากรรม และผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องมีมาตรการป้องกันการจดทะเบียนซิมปลอม และการตรวจสอบข้อมูลยืนยันตัวตนของผู้ที่จดทะเบียนทุกคน ว่าเป็นของจริงหรือไม่


ทั้งนี้ บุคคลใดฝ่าฝืนอาจต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลานานสูงสุด 3 ปี ปรับเป็นเงินสูงสุด 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ( ราว 271,919.29 บาท ) หรือทั้งจำทั้งปรับ


อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์ยืนยัน บุคคลซึ่งซื้อซิมการ์ด และลงทะเบียนให้กับสมาชิกอีกคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งใช้ซิมการ์ดนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ถูกต้องกับสถาบันการเงิน ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

อนึ่ง ข้อมูลอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสิงคโปร์ ระบุว่า มีรายงานการหลอกหลวงทางออนไลน์มากกว่า 46,000 กรณี เมื่อปีที่แล้ว และผู้เสียหายสูญเสียทรัพย์สินรวมกันประมาณ 651.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ( ราว 17,725.36 ล้านบาท ).

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES