จากเหตุการณ์เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดเชิงเลน ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พังถล่มลงแม่น้ำ ระยะทางประมาณ 75 เมตร เหตุเกิดเวลา 17.30 น. วานนี้ (9 มิ.ย.) ที่ผ่านมา นั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายภิรมย์ ชุมนุม นายอำเภอปากเกร็ด นายทรงสิทธิ์ สุขพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานขนาดกลางที่ 11 และ นายปรีดา เชื้อผู้ดี นายก อบต.ท่าอิฐ พร้อมเจ้าหน้าที่ เดินทางมาตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุ โดยมีเจ้าหน้าของกรมชลประทาน ได้นำข้อมูลการก่อสร้างมาชี้แจงให้ทางผู้ว่าฯ นนทบุรี ทราบเบื้องต้นถึงสาเหตุในครั้งนี้

โดย นายสุธี กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 62 ส่วนจุดที่พังน่าจะสร้างมาได้ประมาณ 2 ปี จากการสอบถามนายกอบต.ท่าอิฐ และเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ให้ข้อมูลว่า ตรงจุดนี้เป็นคุ้งน้ำวน น้ำจะตัดมาจากเกาะเกร็ด เป็นลักษณะรุนแรงทำให้เกิดการกัดเซาะ ขณะเดียวกันด้านบนของเขื่อนมีการนำดินมาถมเพิ่มเติม ทำให้เขื่อนไม่สามารถรับน้ำหนักไหว จึงเป็นสาเหตุทำให้พังไถลลงไป ส่วนสาเหตุจริงๆ นั้นต้องรอให้ทาง ผอ.ชลประทาน รายงานเข้าทางกรมให้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงมาตรวจสอบหาสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งว่า สาเหตุเกิดจากน้ำกัดเซาะหรือการรับน้ำหนักของเขื่อน ตอนนี้เราต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน เพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะบ่าลงในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงในไม่กี่เดือนนี้ ถ้าตรงนี้มีกำแพงก็จะสามารถป้องกันน้ำได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำจะไหลเข้าสู่พื้นที่ด้านในทำให้ชาวสวนอาจจะได้รับความเสียหาย ตรงนี้เราต้องหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน

นายทรงสิทธิ์ กล่าวว่า ทางชลประทานจะส่งผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทาน ด้านออกแบบและธรณีมาสำรวจหาข้อเท็จจริงสาเหตุการทรุดตัวว่าเกิดจากอะไร เบื้องต้นซึ่งช่วงนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดกระแสน้ำวนค่อนข้างรุนแรง ทำให่เกิดความแตกต่างระหว่างด้านในกับด้านนอก ถ้าน้ำด้านนอกไหลรุนแรงก็จะทำให้เกิดการพัดพาดินที่อยู่บริเวณนี้ออกไปทำให้เกิดการเซของกำแพงได้ เรื่องนี้ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรและด้านธรณี มาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งก่อน ทราบว่าจะเดินทางมาในวันนี้ ส่วนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างก็เป็นไปตามรูปแบบที่ทางวิศวกรได้มีการออกแบบ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวเขื่อนป้องกันน้ำก็มีลักษณะเหมือนกำแพงบ้าน เพราะเราสร้างไว้เพื่อป้องกันน้ำเท่านั้น แต่ถ้ามีการนำดินมาถมเพิ่มเติม ก็อาจจะทำให้เขื่อนรับน้ำหนักไม่ไหว เพราะเราไม่ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับน้ำหนักที่เป็นส่วนเกิน อย่างไรก็ตาม คงต้องรอทางผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบหาสาเหตุอีกครั้ง.