“ทุกครั้งที่ผมขายบริษัทได้ ผมจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนที่มีอายุงานมากกว่า 1 ปี” มาร์ค คิวบัน มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน นักลงทุนและเจ้าของธุรกิจระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โพสต์ข้อความไว้บนเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการตอบคำถามของผู้ใช้เอ็กซ์ที่ชื่อว่า “Purpleiris” ซึ่งตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพนักงาน เมื่อเจ้าของกิจการขายบริษัทที่ทำกำไรได้ไม่ดี

คิวบัน ชี้ว่า ยิ่งเขาขายธุรกิจในมือได้เงินมามากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งจ่ายเงินโบนัสก้อนใหญ่ให้พนักงานมากขึ้นเท่านั้น ดังเช่นพนักงานจำนวน 300 คน จากจำนวนทั้งหมด 330 คน ของบริษัท Broadcast.com ซึ่งกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในปี 2542 เมื่อเขาขายหุ้นของบริษัทให้บริการสตรีมมิ่งเสียงให้ยักษ์ใหญ่อย่าง “ยาฮู” ในราคา 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 210,355 ล้านบาท)

คิวบัน เริ่มธรรมเนียมปฏิบัติส่วนตัวนี้ของเขา ตั้งแต่การขายบริษัทของตัวเองเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อว่า ไมโครโซลูชั่นส์ ให้บริษัทคอมพิวเซิร์ฟ ในปี 2533 เป็นเงินจำนวน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 221.4 ล้านบาท) เขานำเงิน 20% จากยอดสุทธิที่ขายได้มา จ่ายให้พนักงานในบริษัทดังกล่าวจำนวน 80 คน ซึ่งหากแบ่งเท่า ๆ กัน จะได้เงินคนละ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 553,665 บาท)

คิวบันเคยทำอย่างเดียวกันนี้ตอนที่เขาขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท HDNet หรือช่อง AXS TV ในปี 2562 และหุ้นของทีมบาสเกตบอลเอ็นบีเอ “ดัลลัส มาเวอริคส์” เมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่า มีเพียงพนักงานของ HDNet เท่านั้น ที่โดนเลย์ออฟหลังจากการขายหุ้น 

ในอดีต คิวบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและขายบริษัทไมโครโซลูชั่นส์ ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมา เพราะสามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ หลังจากเผชิญหน้ากับอุปสรรคครั้งใหญ่ กล่าวคือเกือบจะต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะโดนเลขาฯ ของเขาขโมยเงินทุนของบริษัทไป 82,000 ดอลลาร์เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านบาทเศษ 

ต่อมาอีก 5 ปีหลังจากนั้น คิวบันก็ขายบริษัทไมโครโซลูชั่นส์ซึ่งทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน 

ในปี 2538 คิวบันลงทุนและเข้าไปบริหารบริษัทออดิโอเน็ต ธุรกิจด้านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเสียง ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัท Broadcast.com ในตอนแรกเริ่มนั้นมีแต่คนไม่เชื่อมั่นในธุรกิจนี้ เพราะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังขาดความเสถียร คิวบันเล่าว่าในตอนนั้นไม่มีใครสนใจธุรกิจนี้เลย และมีแต่คนกล่าวหาว่าเขาเป็นไอ้โง่

สืบเนื่องจากการขาย Bradcast.com ไป ทำให้คิวบันได้รับหุ้นจำนวนมากของยาฮูไปด้วย ซึ่งในตอนนั้นมีมูลค่าสูงมาก แต่แทนที่เขาจะเก็บมันไว้ เศรษฐีหนุ่มกลับปล่อยขายหุ้นออกไปอย่างรวดเร็วและพอใจกับเงินที่ได้มามาก โดยเขามองว่าตลาดหุ้นตอนนั้นปั่นราคาเกินเหตุ

คิวบันตัดสินใจถูก เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ฟองสบู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตก็แตก ทำให้มูลค่าหุ้นของยาฮูตกลงอย่างมาก คิวบันกล่าวว่า เหตุการณ์นั้นสอนบทเรียนให้เขาว่า “ถ้าเอาแต่ไล่ตามเงิน ก็อาจจะจบไม่สวย”

มาร์ค คิวบัน ระหว่างชมการแข่งขันบาสเกตบอลเอ็นบีเอ ระหว่างทีม ดัลลัส มาเวอริคส์ กับ แอลเอ เลเกอร์ส ที่เมืองดัลลัส รัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566

เมื่อปีที่แล้ว คิวบันขายหุ้นส่วนใหญ่ของทีมดัลลัส มาเวอริคส์ ให้ตระกูลอเดลสันและดูมองต์ ผู้บริหารบริษัทลาสเวกัส แซนด์ส คอร์เปอเรชั่น ในราคาประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 129,090 ล้านบาท) โดยที่เขายังคงมีหุ้นอยู่ในมาเวอริคส์ 27% และเป็นผู้บริหารทีม 

การซื้อขายครั้งนี้ เท่ากับเป็นการยุติบทบาทผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีมมาเวอริคส์ ตลอดระยะเวลายาวนานของคิวบัน 

ก่อนหน้านั้นในปี 2543 คิวบันซึ่งเพิ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหมาด ๆ ทุ่มเงินซื้อหุ้นของทีมนี้ในราคา 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,510 ล้านบาท) โดยไม่มีการต่อรองขอส่วนลดใด ๆ 

คิวบันกล่าวในการให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การซื้อครั้งนั้นเป็นเหมือนความฝันของเขา เขาไม่ต่อราคาเลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว เพราะคิดว่าเท่าไหร่ก็จะซื้อ

ปัจจุบัน นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของคิวบันคือ 5,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 199,152 ล้านบาท

ที่มา : cnbc.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES