นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง โดยในจำนวนนี้ มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง ธ.อิสลาม ช่วยเหลือประชาชน รับรวมหนี้ ต่อธุรกิจ ปิดหนี้ และหมุนธุรกิจ

อันดับที่ 2 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อ ผ่านเพจสินเชื่อส่วนบุคคล SME

อันดับที่ 3 : เรื่อง กระทรวงการคลังออกสินเชื่อเงินบำนาญฉุกเฉินปลอดดอกเบี้ยให้กับผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

อันดับที่ 4 : เรื่อง สินเชื่อกรุงไทย ผ่อนแสนละ 1,866.67 บาทต่อเดือน ผ่านเพจ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

อันดับที่ 5 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดสินเชื่อเงินด่วน ไม่เป็นเกษตรกรก็กู้ได้ ผ่านไลน์ @864qqcut

อันดับที่ 6 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์เปิดลงทะเบียนเข้าร่วม SET Stock Academy

อันดับที่ 7 : เรื่อง เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชวนลงทุนผ่านไอดีไลน์ set-th50

อันดับที่ 8 : เรื่อง เปิดสมัครกองทุนระยะสั้น ปันผล 10-30% ต่อวัน ผ่านเพจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อันดับที่ 9 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์เปิดหลักสูตร ฝึกอบรมพิเศษโดยโจ ลูกอีกสาน

อันดับที่ 10 : เรื่อง กรุงไทยให้ยื่นกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Fajar Farid

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีการอ้างถึงธนาคารรัฐ และหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือและมีความสนใจเป็นอันดับต้นๆ โดยหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบทั้งในส่วนบุคคล และประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้ และขอให้ตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน หลงเชื่อทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแพลตฟอร์มต้องสงสัย อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้” นายเวทางค์ กล่าว