เรียกได้ว่าเป็นภาพที่กลายเป็นไวรัลเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 มีการแชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพลงในกลุ่ม “ชมรมคนรักเนื้อ” พร้อมระบุข้อความว่า “รบกวนสอบถามพี่ๆ ค่ะ สั่งเนื้อแดดเดียวทอดมาทาน แต่เป็นสีนี้คือปกติไหมคะ ทานได้ไหมคะ ส่วนตัวไม่เคยเห็นสีแบบนี้ค่ะ”

โดยภาพในโพสต์ดังกล่าว เป็นภาพเนื้อทอดแดดเดียวที่สีเป็นลักษณะสีรุ้ง ทำเอาชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างเสียงแตก ทั้งฝ่ายที่บอกรับประทานได้ และอีกฝ่ายมองว่าไม่ควรรับประทาน

ต่อมา อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยระบุข้อความว่า “กินได้ครับ” พร้อมกับให้ความรู้ “ทำไมหมูย่าง เนื้อย่าง ถึงได้กลายเป็นสีรุ้ง”

อาจารย์เจษฎา ยังเผยข้อความอีกว่า มีคำถามจากลูกเพจว่า ไปซื้อคอหมูย่างปรุงสุกพร้อมรับประทานมาจากซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่งแล้วเห็นความผิดปกติ คือ คอหมูย่างมีสีสะท้อนแสง โดยลักษณะภายนอกอย่างอื่นไม่มีอะไรผิดปกติ ทั้งกลิ่นและรสชาติ มันจะเหมือนการตกกระทบของแสงแบบน้ำมันที่ลอยในน้ำหรือเปล่า ลองเอากระดาษทิชชูซับน้ำมันออกจนแห้ง สีสะท้อนแสงก็ไม่หายไป ทดลองล้างน้ำเปล่าเอานิ้วถูๆ ด้วย สีก็ยังติดกับเนื้ออยู่ มันเกิดจากอะไรกัน เนื้อเสียหรือเปล่า คำตอบคือ มันเป็นเรื่องปกติครับ เนื้อไม่ได้เสียอะไร

เรื่องเนื้อมีสีรุ้งเช่นนี้ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า iridescent meat) ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกับเนื้อหมู แต่ก็พบเห็นได้ในเนื้อวัว เนื้อเป็ด หรือเนื้ออื่นๆ หลังจากผ่านการให้ความร้อนแล้ว โดยเกิดจากการที่แสงไปกระทบบนเนื้อ แล้วแยกสเปกตรัมออกเป็นสีๆ เหมือนกับสายรุ้งบนท้องฟ้า

กระบวนการนี้เรียกว่า การเลี้ยวเบน (diffraction) ของแสง จากการที่เนื้อนั้นประกอบด้วยเส้นใยของกล้ามเนื้อที่อัดกันแน่นในแนวขนานกัน เมื่อเราหั่นเนื้อ ปลายของเส้นใยที่ถูกตัดจากไม่เรียบสนิทแต่จะเป็นร่องๆ เมื่อแสงขาวตกกระทบร่องดังกล่าว แสงบางความยาวคลื่นก็จะถูกดูดกลืนลงไปในเนื้อ ขณะที่แสงส่วนอื่นสะท้อนออกมา ขึ้นกับความยาวคลื่นที่จำเพาะของมัน

ผลที่ได้จึงเห็นเป็นสีรุ้งๆ เหลือบๆ เหมือนกับที่เราดูแสงสะท้อนบนแผ่นซีดี หรือบนฟองสบู่ และการที่เราให้ความร้อนกับเนื้อ เช่น ปิ้งหรือย่างแล้ว ยิ่งทำให้การจับตัวของกล้ามเนื้อแน่นขึ้นไปอีก เราจึงมักจะเห็นสีรุ้งนี้ในเนื้อที่ผ่านความร้อนแล้ว มากกว่าเนื้อดิบ ขณะที่ถ้าเราไปดูพวกเนื้อเบอร์เกอร์ ที่เนื้อผ่านการบดมาก่อนจะมาขึ้นรูปและไปทอด ก็จะไม่เห็นสีรุ้งนี้ เพราะเส้นใยในเนื้อมันไม่ได้เรียงตัวขนานกันอย่างเหมาะสมอีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดสีรุ้งของเนื้อ ตั้งแต่ทิศทางในการหั่นตัดเนื้อ ความคมของมีดที่ใช้ การหมักเนื้อ การบ่มเนื้อ ปริมาณของไขมัน แต่ถ้าเกิดเห็นสีรุ้งๆ บน “เนื้อดิบ” อันนี้ต้องระวังนะครับ เพราะอาจจะเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้ ซึ่งเวลามันโตบนผิวหน้าของเนื้อจะเกิดเป็นฟิล์มบางขึ้น และทำให้สะท้อนแสงเป็นสีต่างๆ เช่นกัน วิธีทดสอบคือลองนำกระดาษทิชชูมาห่อเนื้อไว้ ถ้าเวลาผ่านไปแล้วสีรุ้งหายไป เนื้อนั้นน่าจะมีเชื้อปนเปื้อนแล้วล่ะ ค่อยทิ้งไป อย่าเสียดาย..

ขอบคุณข้อมูลจาก : Jessada Denduangboripant และ slate