การทำฟาร์มปศุสัตว์ เป็นหนึ่งในตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ การเกษตรระดับเซลล์ หรือการผลิตอาหารและสารอาหารจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ จึงถูกมองว่าเป็น “ทางเลือกสีเขียว” สำหรับการเกษตรปศุสัตว์มากขึ้น

เนื้อสัตว์, ไข่ และนม ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่บางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นธรรมชาติ, ผ่านการแปรรูปอย่างหนัก, ใช้พลังงานมาก และมีค่าใช้จ่ายสูง

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโรงงานที่เพิ่งเปิดใหม่ของบริษัท โซลาร์ ฟู้ดส์ นอกกรุงเฮลซิงกิ กำลังใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อปลูกโปรตีนจากเซลล์ โดยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ไฮโดรเจน, แร่ธาตุบางชนิด และไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน แก่จุลินทรีย์ จนในที่สุด บริษัทก็สามารถสร้างผงที่อุดมไปด้วยโปรตีน ซึ่งสามารถใช้เป็นนมและไข่ทดแทนได้

“เราสามารถจัดหาวัตถุดิบสำหรับจุลินทรีย์จากอากาศ” นายพาซี ไวนิกกา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโซลาร์ ฟู้ดส์ กล่าว “พวกเราได้เริ่มการผลิตโปรตีนที่ยั่งยืนที่สุดในโลก”

ทั้งนี้ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในปี 2564 ระบุว่า โปรตีนชนิดใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า “โซลีน” (solein) ในปริมาณ 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าโปรตีนจากการผลิตเนื้อวัวในสหภาพยุโรป (อียู) ในปริมาณเท่ากัน ถึง 130 เท่า

ด้าน นางเอมิเลีย นอร์ดลุนด์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาห กรรมและการวิจัยอาหาร จากศูนย์วิจัยทางเทคนิค วีทีที กล่าวว่า การเปลี่ยนการผลิตอาหาร และการบริโภค เป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้กับวิกฤติสภาพอากาศ และป้องกันการสูญเสียความหลากหลายชีวภาพ กระนั้น การคาดการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การบริโภคเนื้อสัตว์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“เทคโนโลยีการผลิตอาหารชนิดใหม่ สามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงกระจายอำนาจ และกระจายการผลิตอาหาร แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องปรับปรุงวิธีการผลิตอาหารที่มีอยู่ เพื่อทำให้มันมีความยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น” นอร์ดลุนด์ ระบุ

สำหรับตอนนี้ วัตถุประสงค์ของโรงงานฟินแลนด์ขนาดเล็ก ซึ่งมีพนักงานประมาณ 40 คน คือการพิสูจน์ระดับของเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดการลงทุนที่จำเป็น ซึ่งอยู่ระหว่างการรออนุมัติตามกฎระเบียบของยุโรป

“เป้าหมายของเราคือ การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่กว่านี้ 100 เท่า เพื่อทำให้เกิดผลกระทบที่แท้จริง” ไวนิกกา กล่าวทิ้งท้าย.