อันดับแรก ในการจัดทำแผน PDP จะเริ่มต้นด้วยการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ การทำ Load Forecast ซึ่งที่ผ่านมาในการจัดทำ Load Forecast สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) พัฒนาโมเดลในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า

โดยใน model จะมีการใส่ข้อมูลสมมติฐานที่สำคัญต่างๆ เช่น ค่าประมาณ GDP (การผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ค่าประมาณการจำนวนประชากร ข้อมูลลักษณะการใช้ไฟฟ้า หรือ Load Profile ของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทผู้ใช้ เป็นต้น

โดยจะมีการพิจารณาจัดทำค่าพยากรณ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) การไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น โดยดำเนินการภายใต้คณะทำงานและคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะได้ค่าพยากรณ์ Business As Usual (BAU)ออกมา แล้วจึงนำไปจัดทำค่าพยากรณ์ในกรณีต่างๆ
เพิ่มเติม เพื่อใช้วางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ให้สอดคล้องกับค่าพยากรณ์ดังกล่าวต่อไป ซึ่งจะทำให้มีผลต่อเนื่องไปสู่การจัดทำแผน AEDP และ Gas plan ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันกับแผน PDP ดังกล่าว

หลังจากที่ได้ค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าแล้ว จะมากำหนดหลักการ กำหนดสมมติฐาน เพื่อมาใช้ในการวางแผนการจัดหาไฟฟ้าหรือแผน PDP ซึ่งหลักการและสมมติฐานหลักๆ ที่นำมาใช้การวางแผน PDP ที่ผ่านมาจะเน้นใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

  1. ด้านความมั่นคง : ระบบไฟฟ้าจะต้องมีความมั่นคง สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าตามที่พยากรณ์ไว้ได้ มีการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดเชื้อเพลิงหนึ่งมากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีผลต่อเนื่องไปสู่การจัดทำแผน AEDP และ Gas plan ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันกับแผน PDP ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ในด้านความมั่นคงก็มีการกำหนดเกณฑ์ความมั่นคงว่าจะเลือกใช้เกณฑ์ใด เช่น ที่ผ่านมาก็มีการใช้ทั้งเกณฑ์ Reserve Margin เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ หรือ LOLE (loss of Load Expectation) หรือบางแผนก็ใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ (Reliable Capacity)
  2. ด้านเศรษฐกิจ : ต้นทุนค่าฟ้ามีเหมาะสม ไม่แพงจนเกินไปและไม่ถูกจนเกินไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าแพงเกินไปก็ไม่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน และถูกเกินไปก้อาจจะทำให้ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าสามารถไม่ลงทุนโครงการได้ ซึ่งก็ส่งผลให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอ จนอาจจะเกิดไฟฟ้าดับ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน
  3. ด้านสิ่งแวดล้อม : ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อย CO2 เป็นต้น


หลังจากกำหนดสมมติฐานเสร็จ ก็จะมาจัดทำร่างแผน PDP โดยจะเป็นการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสมมติฐานและสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ได้ทำการพยากรณ์ไว้

#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ
#เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน #CreateTheFutureEnergy
#กระทรวงพลังงาน
#แผนPDP #ไฟฟ้า