“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”   รายงานว่า  ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เตรียมดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในการเวนคืนที่ดินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  หลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงชนะสงคราม แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ

แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสี่แยกมหานาค แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงดินแดง แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

แม้กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ยังรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างรฟม., คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC

กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 24 พ.ค.65 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.63 แต่ รฟม. สามารถดำเนินการในส่วนของการเวนคืนฯ ได้เลย เพราะเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อคดีสิ้นสุด และได้ผู้ชนะประมูลแล้ว รฟม. จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างได้เลยไม่ต้องรอพื้นที่นานสามารถเร่งรัดการก่อสร้างได้ด้วย

หลังจากนี้ รฟม. จะเริ่มเข้าสำรวจที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 4 ธ.ค. 67 รวมทั้งสำรวจผู้ได้รับผลกระทบ และพิจารณาค่าตอบแทน ตลอดจนดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของกฎหมาย เบื้องต้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร(กม.) เป็นโครงสร้างใต้ดินทั้งหมด มี11 สถานี มีที่ดินที่ต้องเวนคืนประมาณ 380 แปลง และต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 400 หลัง มีกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 14,661 ล้านบาท

แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ เป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังบริเวณสถานีศิริราช จากนั้นวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวง จนถึงแยกยมราช

เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภ ตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดงแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง และเลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวิดีรังสิต เลี้ยวขวาผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก เป็นงานหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตั้งแต่ปี 63 วงเงินรวมประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท

แต่เนื่องจากในขั้นตอนประกวดราคาโครงการฯ มีคดีพิพาทเกิดขึ้น กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายให้รอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดสิ้นสุดก่อนดำเนินโครงการ  ล่าสุดวันที่ 12 มิ.ย.67 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีพิพาทดังกล่าวแล้ว ที่ห้องพิจารณาคดี 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง กรุงเทพฯ  ทั้งนี้เมื่อเดือน ก.ค.66 ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีฯนี้แล้ว แต่ BTSC ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องคดี จึงต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ รายงานด้วยว่า  หากคดีเป็นที่สิ้นสุด  กระทรวงคมนาคมต้องเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่ง รฟม. ได้เสนอไปกระทรวงคมนาคมแล้วเข้าสู่การพิจารณาของครม. ด้วย หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จึงจะลงนามในสัญญาและเริ่มโครงการได้

โดยขณะนี้ระยะเวลายืนยันราคาการประมูลตามที่เอกชนผู้ชนะประมูลเสนอได้หมดลงแล้ว  รฟม. ได้ทำหนังสือขอให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีผู้รับเหมางานโยธาคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)  ขยายเวลาการยืนยันราคาการประมูล ซึ่งทาง BEM ยินดีขยายเวลายืนยันราคาออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อรอการพิจารณาของ ครม.

หากลงนามสัญญาได้ภายในปี 67 คาดว่าเอกชนจะใช้เวลาติดตั้งงานระบบฯ และจัดหารถของโครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรีบุรี (สุวินทวงศ์)  ระยะทาง 22.5 กม. รวม 17 สถานี  เป็นใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี ที่แยกงานประมูลก่อสร้างออกไป และก่อสร้างเสร็จ100% ตั้งแต่ปี 66  ไม่เกิน 3 ปีนับจากการเริ่มสัญญาสัมปทาน โดยจะเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ได้ประมาณปี 70 ขณะที่การก่อสร้างส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. เป็นงานสถานีใต้ดินตลอดสาย คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี และเปิดบริการได้ประมาณปี 72-73