เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่สังเกตการณ์เลือก สว.ระดับอำเภอ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 

โดย นายพริษฐ์  กล่าวว่า  กมธ.ได้ติดตามกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง  มีเป้าหมายอยากให้กระบวนการคัดเลือก สว.ดำเนินการด้วยความราบรื่น โปร่งใส เป็นไปตามกรอบเวลา  และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด  โดยวันนี้ กมธ.ได้กระจายตัวไปสังเกตการณ์ทั่วประเทศ  เหตุผลที่ตนเองตัดสินใจมาสังเกตการณ์ที่เขตจตุจักร  เพราะมีผู้สมัคร สว.จำนวนมาก เป็น 1 ใน 3 เขตของกรุงเทพฯ  ที่มีผู้สมัครเกิน 90 คน

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนมีข้อเรียกร้องถึง กกต. 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.อยากเห็นการจัดสถานที่สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิดกว่านี้  เขตจตุจักรแม้จะมีสถานที่สังเกตการณ์ แต่การสังเกตการนับคะแนนและผลการนับคะแนนยังทำได้ยากมาก  ต้องติดตามผ่านกล้อง CCTV ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ และเป็นการเผยแพร่ภาพเพียงอย่างเดียว จึงเรียกร้องไปยัง กกต.ปรับปรุงให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนเข้าถึงกระบวนการได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการเลือก สว.ระดับจังหวัด ทั้งนี้ได้รับรายงานว่าการจัดสถานที่สังเกตการณ์ในการเลือกระดับอำเภอ แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บางที่สามารถดูกระบวนการนับคะแนนและเอกสารหน้าที่เลือกได้เลย  บางแห่งมีพื้นที่จำกัดและเข้าไปด้านในที่เลือกไม่ได้  บางพื้นที่ต้องดูผ่านกล้องวงจรปิดอย่างเดียว 

นายพริษฐ์ กล่าวว่า 2.มาตรฐานการปฏิบัติในแต่ละหน่วยเลือกไม่เหมือนกัน  เช่น การจับสลากแบ่งสาย แนวปฏิบัติการพูดคุยแนะนำตัวระหว่างผู้สมัคร  และ 3.คงแก้ไม่ทันแล้วแต่ต้องถอดบทเรียน เพราะผู้สมัครในภาพรวมมีจำนวนน้อย 4 หมื่นกว่าคน ทำให้บางกลุ่มอาชีพไม่มีผู้สมัคร  บางกลุ่มมีผู้สมัครไม่เกิน 5 คน ไม่ต้องคัดเลือกกัน การแข่งขันจึงไม่เข้มข้น

นายพริษฐ์ กล่าวว่า  ส่วนข้อครหาในการจัดจ้างคนมาเลือกเพื่อฮั้ว ถือเป็นข้อร้องเรียนที่ได้รับเข้ามาเรื่อยๆ ในคณะกรรมาธิการ  ซึ่งมีหลายระดับ ร้ายแรงสุดถึงขั้นว่าจ้างให้คนมาเลือกตนเอง รองลงมาคือการจัดตั้งเครือข่ายในกลุ่มคนที่รู้จักเพื่อแลกคะแนนเสียง  ทั้งหมดถือเป็นความผิดตามกฎหมาย เฉพาะหน้าอยากให้ กกต. ดำเนินการอย่างจริงจังและรวดเร็วเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง  และต้องไม่ให้กระทบต่อการเลือก สว.ชุดใหม่  ในระยะยาวส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเลือก สว.ในระบบนี้  จึงตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ เพราะหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นรัฐเดี่ยว มีระบบรัฐสภาก็ใช้ระบบสภาเดียว มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร หากจะมี สว.ที่มีอำนาจสูงร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ  รับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็ควรมาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม  ไม่ใช่คัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร  ซึ่งมีอุปสรรคเรื่องอายุ และค่าธรรมเนียมการสมัครที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างไม่เต็มที่

เมื่อถามว่า ส่วนจะได้ สว.ที่ตอบโจทย์หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างและที่มาของ สว. หวังว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย  การออกแบบรัฐสภาที่ตอบโจทย์จะถูกพูดคุยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องมี สว.หรือไม่ หากมีจะต้องออกแบบโครงสร้างอำนาจหน้าที่อย่างไรให้สอดคล้อง

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนท่าทีของ กกต.เกี่ยวกับเรื่องการฮั้ว กกต.ควรเอาจริงเอาจัง จัดสรรบุคลากรให้เพียงพอเพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงให้สามารถแก้ไขปัญหาได้  โดยไม่กระทบภาพรวมในการคัดเลือก สว.ให้เป็นไปตามปฏิทิน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้รับรายงานเรื่องการฮั้ว  เช่น รูปที่ใช้ในการสมัครดูเหมือนเป็นสถานที่เดียวกัน ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต ยังไม่ด่วนสรุปว่ามีการจัดตั้ง ท้ายสุด กกต.ต้องเอาจริงเอาจังกับการสืบค้นข้อเท็จจริง โดยไม่กระทบต่อปฏิทินในการคัดเลือก สว.