จากกรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย จงจิตงาม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โวยทางวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม จ.เชียงใหม่ ได้มีการซ่อมแซมประติมากรรมปูนปั้นภาพยักษ์ขนาดใหญ่ในศิลปะล้านนา ด้วยการปั้นพอกจนกลายเป็นของใหม่ประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ขนาดใหญ่สูงราว 2 เมตร เป็นรูปยักษ์ในศิลปะล้านนาที่พบอยู่ภายในวัดอุโมงค์มาแต่โบราณ ครั้งวัดอุโมงค์ยังเป็นวัดร้างอยู่กลางป่าหลายร้อยปี ต่อมาได้มีการฟื้นฟูวัดอุโมงค์ขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 และประติมากรรมยักษ์ก็ถูกรักษาไว้ตามเดิมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ประติมากรรมยักษ์ที่วัดมีอายุไม่น้อยกว่า 400 ปี ซึ่งประติมากรรมยักษ์ดังกล่าว สภาพยังสมบูรณ์อยู่มาก มีศีรษะ และลำตัวครบ แม้แขนจะชำรุดบ้าง แต่ก็เป็นศิลปะที่มีค่า

โดยในศิลปะล้านนาภาพยักษ์ในสภาพที่สมบูรณ์อายุหลายร้อยปีเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก ประติมากรรมยักษ์ที่วัดอุโมงค์จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นต้นแบบในการศึกษาภาพยักษ์ในศิลปะล้านนา ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างเฉพาะตัวไปจากภาพยักษ์ในศิลปะอยุธยาและรัตนโกสินทร์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งพบเห็นได้ง่ายในจำนวนมากกว่า ฉะนั้นยักษ์ที่วัดอุโมงค์จึงมีความสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันหาได้ยากที่ควรรักษาไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีบุคคลจากภายนอกที่ไม่รู้คุณค่าของศิลปะโบราณ ได้นำช่างฝีมือรุ่นใหม่มาทำการปั้นพอกปูนทับยักษ์โบราณในรูปแบบที่ปั้นใหม่ขึ้นทั้งหมด ทำให้ยักษ์วัดอุโมงค์จึงกลายเป็นของใหม่อย่างสิ้นเชิง ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พระครูสมุห์บุญเลิศ ชยวโส เจ้าอาวาส และพระพีระ พระลูกวัด ที่รับหน้าที่เฝ้าดูการบูรณะยักษ์ทั้งสองตน ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ต้นปี 67 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มาเที่ยวชมวัดแห่งนี้ และเกิดศรัทธาและเห็นยักษ์ทั้งสององค์ชำรุด จึงประสานให้กรมศิลปากร เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมบูรณะ แล้วเสร็จได้หลายเดือนแล้ว

‘อาจารย์มช.’ วอนตรวจสอบ ‘ยักษ์ล้านนา’ 400 ปี เจอพอกปูนใหม่ขาวโพลน

พระพีระ กล่าวเสริมว่า การดำเนินการเท่าที่ทราบและเห็นก็มีการนำปูนพอกเข้าไปกับของเดิม ซึ่งทางวัดไม่รู้เรื่องการบูรณะใดๆ เพราะเชื่อมือกรมศิลปากร ที่เป็นแม่งาน เป็นหน้างานของเขา ทางวัดได้แค่ดู เพราะวัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ทุกอย่างเป็นสมบัติของชาติ หน้าที่ซ่อมบำรุ่ง ก็ต้องเป็นกรมศิลปากร ยักษ์ทั้งสองตนมีตำนานมาหลายร้อยปีแล้ว ทั้งเรื่องลึกลับและเรื่องอื่นๆ ในอดีตยักษ์ทั้งสองตนที่ถือเป็นยักษ์ทวารบาล เฝ้าประตูทางเข้าวัด เคยมีคนมาบน แล้วไม่แก้บน ก็เกิดเรื่องราวจนต้องมาแก้บน ต่อมายักษ์ทั้งสองเคยถูกต้นมะกอก และต้นตะเคียนยักษ์ล้มใส่ แต่เมื่อเอาต้นไม้ออกยักษ์ทั้งสองก็ไม่เสียหายใดๆ เลย

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย จงจิตงาม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนก็เพิ่งทราบเรื่องว่าคนที่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแก้ไขยักษ์โบราณเป็นใคร ก็ตกใจมากที่รู้ แต่ตนอยากให้เรื่องนี้จบที่ยักษ์สองตนนี้ อย่าให้เป็นโบราณสถานที่อื่นแล้วหวังดีอยากซ่อมให้ใหม่ เพราะของเก่ามักมีความขลังในอดีตที่หาไม่ได้อีกแล้ว จึงอยากบอกว่าการแก้ไขบูรณะนั้นมีหลากหลายวิธีไม่ใช่แบบที่เกิดขึ้นมานี้ การซ่อมแซมควรนึกถึงเนื้อแท้ของของโบราณ ไม่ใช่สร้างขึ้นใหม่ วิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์ก็มี ทำไมไม่ทำ อย่างเทวดาวัดเจ็ดยอด ของโบราณ 500 ปี ก็ยังซ่อมให้เหมือนของเก่าได้เลย วิธีการมีเยอะแยะมากมาย ตนในฐานะคนเชียงใหม่ เป็นอาจารย์ ไม่อยากให้มีการทำลายศิลปะของเดิมแบบนี้อีก.