นางพรเพ็ญ วรสิทธา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ Econ Life ผ่านยูทูบช่องเดลินิวส์ออนไลน์ ถึงโครงการสลากเกษียณ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินเพิ่มมากขึ้น ว่า จากการทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินจากการซื้อหวย เป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด มองว่า การนำหวยมาเป็นเครื่องมือในการช่วยออม ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการออมอยู่จริงในทุกระดับ และคนส่วนใหญ่ที่มีเงินเก็บก็เลือกนำเงินมาซื้อหวยเป็นส่วนมาก เห็นได้จาก สถิติก่อนหน้า มีคนไทยไม่เคยเล่นหวยหรือสลากมากกว่า 30% แต่ปัจจุบันลดเหลือเพียง 3-5% สะท้อนว่าคนไทยมีความใกล้ชิดกับหวยมากขึ้น

ดังนั้น แนวคิดการทำหวยเกษียณของรัฐบาล ในหลักการก็มองว่าเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจน ว่าจะทำได้อย่างไรถึงประสบความสำเร็จ ช่วยทำให้คนไทยหันมาออมเพิ่มขึ้น เช่น การออกรางวัลตามนิสัยของคนไทย ที่ตามปกติแล้วจะนิยมซื้อหวยที่อิงกับเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล เช่น เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว แต่หากมีการไปออกรางวัลเอง หรือเลือกเลขไม่ได้ คนไทยยังอยากจะซื้อหรือเปล่า รวมถึงตัวเงินรางวัลจะมีการจูงใจเพียงพอหรือไม่

นอกจากนี้ ยังอยากเสนอให้รัฐบาลมีการนำเงินที่ได้จากการซื้อหวยเพื่อการออมเหล่านี้  มาจัดตั้งเป็นกองทุนและมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนคอยบริหารเพื่อให้ออกดอกออกผล ให้กับสมาชิกอีกทางหนึ่งด้วย โดยไม่ต้องรอลุ้นแค่รางวัลเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะเป็นวิธีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นประโยชน์กับผู้ออมมากขึ้นด้วย

ด้าน นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า โดยส่วนตัวแล้วโครงการสลากเกษียณของกระทรวงการคลัง ถือว่าดี และสนับสนุน เพราะจากการรายงานวิชาการจากหลายสำนักระบุว่าประชาชนควรมีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณประมาณคนละ 3-4 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีคนทำได้น้อยมาก โดยจะมีเพียง 40% ที่ตอบคำถามว่าสามารถทำได้ ขณะที่อีก 60-80% จะตอบว่าไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้เห็นว่าโครงการออกสลากเกษียณ ครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการออมที่มีกิมมิค คือมีเงินรางวัลจูงใจ คลายกับสลากออมสินของธนาคารออมสิน ที่มีลูกเล่นเรื่องรางวัลจูงใจ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์เพราะปัจจุบันมีคนไทยไม่น้อยที่ชอบเสี่ยง ชอบเล่นการพนัน ทั้งลอตเตอรี่ หรือหวยใต้ดินอยู่แล้ว ก็น่าจะช่วยให้คนหันมาออมเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คนมีเงินออมไม่พอที่จะใช้เมื่อยามเกษียณมีวิธีช่วยได้ 2 ทาง คือการแจกเงินสวัสดิการจากรัฐบาล ปัจจุบันช่องทางนี้ภาระรัฐจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่คาดว่าอาจต้องใช้เงินงบประมาณถึงปีละประมาณ 4-7 แสนล้านบาท จึงจะเพียงพอในการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ และการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงิน แต่รัฐบาลต้องหาสิ่งจูงใจให้ประชาชนอยากออมเงินมากขึ้น ซึ่งสลากเกษียณเป็นหนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจ ช่วยให้คนมีเงินออมมากขึ้น

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล  กล่าวว่า โครงการสลากเกษียณนี้ ถือเป็นนโยบายที่จะช่วยให้คนไทยออมเงินได้จริง แต่ต้องศึกษาเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของประชาชนให้รอบคอบ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้สลากออมทรัพย์ เป็นการออมเงินเพื่อดูแลให้ประชาชนมีเงินเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเป็นหลักการที่ดี จูงใจให้คนออม และมีโอกาสได้รางวัลในแต่ละงวด โดยเงินออมยังคงมีอยู่ ได้ดอกเบี้ยไม่สูง แต่ต้องดูเงื่อนไขรายละเอียดจากนี้ว่าจะออกมาอย่างไร โดยปัจจุบันประเทศไทยก็มีสลากออมเงินอยู่แล้ว ทั้งสลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือสลาก ธ.ก.ส. สลากธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธอส. ซึ่งไม่ได้เป็นการมอมเมาประชาชนอะไร เพราะเป็นการส่งเสริมการออมเช่นกัน แต่ในรายละเอียดก็ต้องไปพิจารณาให้รอบคอบทุกด้านทุกมุมทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ