เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาสำคัญเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในที่ดินของชาวเลราไวย์ ที่ภูเก็ต เป็น 2 คดี โดยแยกเป็นเรื่องสิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม และสิทธิในการทำกินในพื้นที่ศาลเชื่อว่าการออกเอกสารสิทธิครอบครอง(สค1) เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่าชาวเลราไวย์อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนานแล้ว โดยการตรวจดีเอ็นเอโครงกระดูกโบราณที่ราไวย์พบว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับดีเอ็นเอของชาวเลราไวย์ในปัจจุบัน หลักฐานการเรียนหนังสือของเด็กชาวเลที่มีชื่อในทะเบียนโรงเรียนตั้งแต่ก่อนปี 2498 และภาพถ่ายการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาที่ชุมชนราไวย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 มีภาพชาวเลราไวย์ร่วมรับเสด็จ มีบ้านพักอาศัยลักษณะเป็นหมู่บ้านและมีต้นมะพร้าวจำนวนมาก

ชัยชนะชาวเล…ราไวย์ คืนสิทธิเชื่อมั่นที่อยู่-ทำกิน

ชาวเล เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่ามีประชากรราว 12,000 คน อาศัยทำกินและตั้งบ้านเรือนตามชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งต่างๆ พบในทะเลอันดามัน ฝั่งตะวันตกของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ จนถึงสตูล สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 3 กลุ่มคือ

“อูรักลาโว้ย” อาศัยอยู่ที่บ้านสะปำ บ้านแหลมตุ๊กแก บ้านสิเหร่ และหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านในไร่ บ้านคลองดาว และบ้านสังกะอู้ บนเกาะลันตาใหญ่ บ้านแหลมตง บนเกาะพีพี และชุมชนบนเกาะจำ จังหวัดกระบี่ ชุมชนบนเกาะบุโหลน เกาะอาดัง และเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล คาดว่ามีประชากรอูรักลาโว้ยในประเทศไทยราว 7,000 คน

“มอแกลน” อาศัยอยู่มากกว่า 20 หมู่บ้าน เช่น บ้านทุ่งดาบ บ้านท่าแป๊ะโย้ย อำเภอคุระบุรี บ้านทับตะวัน บ้านลำแก่น บ้านทุ่งหว้า บ้านน้ำเค็ม บ้านบางขยะ บ้านขนิม บ้านหินลาด บ้านทับปลา เกาะนก และบ้านท่าใหญ่ อำเภอท้ายเหมือง และมีชุมชนในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นอกจากนี้ยังมีที่บ้านท่าฉัตรไชยและบ้านเหนือ จังหวัดภูเก็ต รวมประชากรมอแกลนประมาณ 4,000 คน

“มอแกน” อาศัยอยู่ที่เกาะเหลา เกาะพยาม และเกาะช้าง จังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ บ้านบางแบก บ้านบางสัก จังหวัดพังงา และบางส่วนของหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต รวมประชากรมอแกนประมาณ 1,000 คนชาวเลที่ราไวย์เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม “อูรักลาโว้ย” ปลูกบ้านเรื่อนอยู่ใกล้ชิดกัน รวม 239 หลังคาเรือน ประชากร 1,322 คน ล้วนเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของพื้นที่นี้

สาเหตุที่ชาวเลอูรักลาโว้ย เลือกราไวย์เป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน เนื่องจากภูมิประเทศมีพื้นที่ราบ พื้นที่หลบคลื่นลมและพายุฝน หาดทรายมีความลาดชันกำลังดี มีแหล่งน้ำจืด ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เดินทางติดต่อค้าขายและเยี่ยมเยือนพี่น้องต่างชุมชนสะดวก และมีธรรมชาติสงบ มีความปลอดภัย ตลอดจนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณงานประเพณีที่สำคัญคือ “พิธีลอยเรือ” ซึ่งจัดกันในวันเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 ทางจันทรคติของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล โดยผู้ชายจะไปตัดไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด สำหรับต่อเป็นเรือลอยเคราะห์ เรือนี้จะทำหน้าที่นำทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากครอบครัวและชุมชน

นายสนิท แซ่ชั่ว แกนนำชาวเลราไวย์ เปิดเผยว่า หลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมา ชาวบ้านมีความดีใจมาก และมีความมั่นใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่ของบรรพบุรุษ แผงขายปลาริมหาดที่เคยถูกจำกัด และไม่กล้าทำเพิ่มเพราะอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ก็จะทำแผงปลาเพิ่มขึ้น เพื่อลองรับตลาดและความต้องการของผู้มาซื้อ ทั้งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านกำลังหารือกันที่จะฟ้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้นำมาออกเป็นโฉนดให้กับชาวเล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง เนื่องจากไม่พบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกรมที่ดินที่มาดำเนินการเพิกถอนโฉนด

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ….กล่าวว่า เดิมรัฐบาลมีนโยบายในการดูแลชาวเล เป็นมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่จะดูแลทั้งเรื่องการอยู่อาศัย การทำกิน สาธารณสุข การศึกษา สัญชาติ และอื่นๆ แต่ก็ยังดำเนินการแก้ไขปัญหาไปได้ไม่มากนักต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ….ของรัฐบาล และร่างกฎหมายทำนองเดียวกันของพรรคการเมืองและภาคประชาชน อีก 4 ฉบับ รวมเป็น 5 ฉบับ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดเพื่อปรับทั้ง 5 ฉบับให้รวมเป็นฉบับเดียวกัน

“ปัจจุบันคณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันคาดว่าภายในสองถึงสามเดือนนี้จะสามารถพิจารณากฎหมายฉบับนี้เสร็จสิ้น และสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรชุดใหญ่เพื่อพิจารณาและรับรองในวาระสองและสาม หากผ่านก็จะส่งต่อไปที่วุฒิสภา เพื่อผ่านเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย” นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย