จากกรณี ช้างแม่พังสร้อย มีอาการบาดเจ็บบริเวณปากฟันล่างซ้าย ทนเจ็บมาประมาณหนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมา ไม่สามารถให้นมลูกช้างเพศผู้ได้ ทีมสัตวแพทย์จึงได้หาทางช่วยรักษาแม่พังสร้อยทอง พังแม่ลูกอ่อน ที่ทนทุกข์ทรมานใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ทีมสัตวแพทย์เตรียมลงพื้นที่ช่วยช้างแม่พังคำสร้อย หลังปวดฟันมาเป็นเดือน

ต่อมาเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิ.ย. 67 ทีมสัตวแพทย์ที่ทำการรักษา ได้ลงพื้นที่ โดยนำรถจอดไว้ข้างถนน แล้วจึงเดินเท้าเปล่าขึ้นเขากลางสวนป่าปลูกยางพาราของชาวบ้านประมาณ 20 นาที พบช้างแม่พังสร้อยทอง กับลูกช้างเพศผู้ กำลังเล่นน้ำกลางลำห้วย ห้วยเขย่ง อย่างสบายใจ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่เป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 นำโดย นายรัชสิต จงจรัสพร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ร่วมกับ สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย สัตวแพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.กิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด สัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผศ.ดร.สพ.ญ.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ และ สพ.ญ.สุธีรานันท์ พิพิธวณิชธรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกันทำการวางยาซึม เพื่อตรวจอาการและทำการรักษาช้างป่าเพศเมีย พังสร้อยทอง (พังแก้มป่อง) อายุประมาณ 50 ปี

จากนั้นทำการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์บริเวณแก้มด้านซ้ายที่บวม พบลักษณะเป็นของเหลวภายอยู่ใน จึงทำการดูดของเหลวออกมามีลักษณะเป็นน้ำใสปนเลือด พบมีการอักเสบและหนาตัวของเนื้อเยื่อแก้มด้านนอก และกระพุ้งแก้มด้านใน ทำให้เวลาช้างบดเคี้ยวอาหารเป็นไปได้ลำบาก ทีมสัตวแพทย์จึงได้ทำการฉีดยาฆ่าเชื้อ ยาลดอักเสบลดปวด วิตามิน ให้สารน้ำทางเส้นเลือด เก็บตัวอย่างจากเลือด เพื่อตรวจวิเคราะห์สุขภาพทางห้องปฏิบัติการ และของเหลวจากแก้มที่บวม และเก็บตัวอย่างจากแผลเพื่อนำไปเพาะเชื้อแบคทีเรีย ก่อนทำการฝังไมโครชิป บริเวณหลังใบหูขวา โดยเมื่อปฏิบัติงานเสร็จ จึงได้ทำการฉีดยาแก้ฤทธิ์ยาซึม แม่ช้างจึงได้เดินกลับเข้าแปลงพร้อมลูกช้าง

ส่วนชุดที่ 2 นำโดย นายปฐม แหนมกลาง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพิทักษ์คชสาร คอยกันลูกช้างเพศผู้ ไม่ให้เข้ามารบกวนแม่ช้างพังสร้อยทอง เกรงว่าจะรบกวนการปฏิบัติงานการรักษาของเจ้าหน้าที่ คณะสัตวแพทย์ได้ทำการรักษา ช้างแม่พังสร้อยทอง เป็นเวลา 1 ชั่วโมง กระทั่งผ่านผ่านไปด้วยดี ก่อนให้ช้างทั้ง 2 ตัว กลับคืนสู่ป่าอย่างปลอดภัย.