“เวลาของพวกเราหมดแล้ว ทะเลร้องไห้นานเกินไปแล้ว ปะการังฟอกขาวทุกหนแห่ง เป็นช่วงที่ทะเลไทย เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเจอ ไม่เคยเห็นหญ้าทะเลหายเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนหนีตายจากบ้านเกิด ไม่มีอะไรชัดกว่านี้อีกแล้ว วันทะเลโลก โลกร้อนฉ่า ทะเลเดือดพล่าน นี่คือโอกาสสุดท้ายที่เราจะรักเธอ เพราะในอีก 5-10 ปี เราจะไม่มีอะไรเหลือให้รัก” คำพูดจากผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในวันทะเลโลก 8มิ.ย.(World Ocean Day ) หัวข้อในการรณรงค์ในปี 2567 ให้ความสำคัญของการลงมือทำ  “ลงมือเพื่อทะเล และภูมิอากาศ” (Catalyzing Action for our Ocean &Climate) กิจกรรมลงมือทำที่สร้างจิตสำนึกและส่งต่อภาระหน้าที่ดูแลโลกใบนี้ “ค่ายทะเลเดือด”  จัดโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เป็นตัวอย่างของการลงมือทำอย่างแท้จริง

               “ตั้งเป้าว่าจะนำนิสิตที่เรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลโดยตรงไปเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ที่จะกลายเป็นผู้ดูแลทะเลวันหน้าได้เรียนรู้และเข้าใจว่าพวกเธอพวกเขากำลังเจออะไร การศึกษาวิจัยต้องทำแบบไหน และทำอย่างไรถึงสามารถถ่ายทอดข้อมูลให้คนอื่นทราบ”ดร.ธรณ์ บอกถึงหัวใจสำคัญของค่ายทะเลเดือด โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านในเว็บไซต์  Carbon markets  club

          ดร.ธรณ์ ระบุว่า เราฝากความหวังกับอนาคต เราต้องการคนรุ่นใหม่ แต่การฝึกอบรมในรูปแบบค่ายทั่วไป จะพาเด็กมัธยมปลายไปทะเลเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ ไปดูสัตว์ดูป่าชายเลนดูปะการังงดงาม เราไม่ได้เตรียมเด็กให้พร้อมกับสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง โดยค่ายทะเลเดือดมีนิสิตวิทยาศาสตร์ทางทะเลตั้งแต่ปี 2 เรื่อยไปจนถึงปริญญาโท มีคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะประมง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเลจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เข้ามาช่วยให้ข้อมูล รวมถึงเครือข่ายอนุรักษ์ท้องถิ่น อบต. และบุคลากร “บางจากฯ” เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ รวมแล้วมากกว่า 100 คน

             บันทึกการทำกิจกรรมค่ายดร.ธรณ์  บอกเล่าไว้ว่า คณะไปถึงทะเลเกาะหมากในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ฝนที่เคยตกต่อเนื่อง 1 สัปดาห์หายไปหมดแล้ว ตลอด 5 วันของการเข้าค่าย แดดจ้าฟ้าใสอากาศร้อนสุด ๆ ยังเป็นช่วงน้ำทะเลลงต่ำ ทั้งแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเลโผล่พ้นน้ำ/ปริ่มน้ำ อุณหภูมิน้ำในเขตแนวปะการัง 32-33 องศา และความตายมีอยู่ทั่วไป

 “ความตายเห็นได้ตั้งแต่มาถึง เมื่อเราเข้าที่พักริมอ่าวสนใหญ่ ทางตอนเหนือเกาะหมาก ผมเรียกเด็กมารวมกันก่อนจัดกิจกรรมทักทายปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะปะการังหน้าหาดฟอกขาวเต็มไปหมด แค่เดินลุยน้ำลงไปนิดเดียวก็เห็นแล้ว ไม่ต้องดำน้ำด้วยซ้ำ เรายังใช้โดรนเพื่อบันทึกภาพเปรียบเทียบ Before & After เพื่อให้เด็ก ๆ เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลง จากเดือนเมษายนที่ผมมาสำรวจเตรียมทำค่าย ปะการังบริเวณนี้ฟอกขาว 20 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นฟอกขาวเกือบหมดเลย หอยมือเสือและดอกไม้ทะเลก็ขาวโพลนด้วยความร้อนของน้ำ ยังถูกซ้ำเติมด้วยแสงแดดแรงกล้าในยามน้ำลงต่ำเหมือนวันนี้ที่นิสิตกำลังเดินลงไปดูสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านั้น

กิจกรรมเริ่มต้น ด้วยงานติดตามแบบง่าย ๆ โดยให้นิสิตกำหนดพื้นที่บนแนวปะการัง นับหอยมือเสือที่กำลังฟอกขาว ใช้โดรนบินขึ้นไปเพื่อถ่ายภาพแนวดิ่งทำแผนที่ นำข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามและภาพถ่ายจากโดรนมาเปรียบเทียบกันว่าได้จำนวนหอยมือเสือใกล้เคียงกันไหม ยังเปลี่ยนระดับเพดานบินโดรนในความสูงต่างๆ ก่อนพบว่าที่ความสูง 20 เมตรแม่นยำต่อการติดตามหอยมือเสือในระยะยาว นิสิตหลายคนจะเริ่มทำปัญหาพิเศษจากหัวข้อเหล่านี้ ทั้งการติดตามหอย ปะการัง และสัตว์ทะเลเกาะติดอื่น ๆ เพื่อดูว่าหลังจากเหตุการณ์ทะเลเดือดผ่านไป จะมีอะไรเหลือรอดอยู่บ้าง

กิจกรรมเด็กดูความตายอันดับต่อมาถึงว่าเป็นไฮไลท์ นั่นคือการพานิสิตไปดำน้ำที่ “เกาะผี” จุดดำน้ำตื้นสำคัญที่สุดของเกาะหมากและพื้นที่ใกล้เคียง ยังเป็นจุดฟื้นฟูปะการังของเครือข่ายอนุรักษ์บนเกาะหมาก ผมมาสำรวจล่วงหน้าที่นี่ 1 เดือน พบว่าปะการังฟอกขาวอยู่บ้างในระดับ 10-20 เปอร์เซ็นต์ในเขตน้ำตื้น ถ้าออกมาน้ำลึกจะเป็นแค่ระดับเปลี่ยนสียังไม่ฟอก แต่มาหนนี้ ทุกอย่างขาวโพลนโหดร้ายมาก ถ้าเข้าไปในที่ตื้นขาวจนเหมือนสุสานแห่งความตาย ออกมาลึกหน่อยก็ยังซีดจนขาวหรือแม้กระทั่งขาวโพลน ยังมีบางก้อนตายแล้วมีตะกอนขึ้นปกคลุม

ดร.ธรณ์ บอกว่า เมื่อลองถามความรู้สึกนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลรุ่นใหม่เหล่านั้น พวกเธอพวกเขาล้วนหน้าซีด มันรุนแรงขนาดนี้เชียวหรือคะ หนูต้องบันทึกข้อมูลปะการังฟอกขาว หนูเจอ 50 ก้อน ฟอกขาว 50 ก้อน นิสิตอีกคนบันทึกเรื่องปลาบอกว่าแทบไม่มีปลาอะไรให้ผมเขียนบันทึกเลย น้ำร้อนขนาดนี้ปลาหนีไปไหนหมดแล้ว ที่น่าสงสารสุดคือเด็กที่ต้องไปดูดอกไม้ทะเล เธอเจอเยอะเลย แต่ทุกกอฟอกขาว มีตั้งแต่สีซีดไปจนถึงสีขาวสุด ๆ แถมยังเหี่ยวป้อแป้ ไม่ต้องให้อาจารย์บอก เธอก็รู้ว่าคงตายแน่ บนดอกไม้ทะเลใกล้ตายยังมีลูกปลาการ์ตูน 1 ตัว ปลาน้อยไม่รู้จะหนีไปไหน ออกไปข้างนอกก็คงโดนปลาอื่นที่หิวโซกิน จึงได้แต่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านที่ใกล้ตายของเธอ

“นี่แหละคือโลกร้อน” ดร.สรุปให้นิสิตหลายสิบคนฟัง นี่คือความหมายของหายนะ เมื่อก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่บนฟ้ามากพอทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทะเลที่ดูดซับความร้อนของโลก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถทำหน้าที่ของเธอต่อไป น้ำร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงจังหวะที่เกิดเอลนีโญ น้ำจะร้อนแบบ 2 เด้ง กลายเป็นทะเลเดือด ปะการัง หอยมือเสือ และดอกไม้ทะเล แช่น้ำร้อนเกินเส้นวิกฤตที่ 31 องศา ติดต่อกันมา 10 สัปดาห์ จึงกลายเป็นสถานการณ์ปะการังฟอกขาวระดับหายนะของทะเลไทย หากเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออก หมู่เกาะทั้งหมดในจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี จนถึงตราด เกาะช้าง เกาะหวาย เกาะหมาก เรื่อยไปจนถึงเกาะกูด แนวปะการังล้วนฟอกขาวเป็นอย่างที่เธอเห็น หากน้ำยังคงร้อนเกินเส้นวิกฤตต่อไป ปะการังจะฟอกขาวจนตายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นระบบนิเวศล่มสลาย แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอยู่อาศัยสัตว์น้ำ เขื่อนกั้นคลื่นตามธรรมชาติ จะไม่มีอะไรเหลือ

          ดร.ธรณ์บรรยายเรื่องราวในข้อเขียนอีกว่า เด็ก ๆ ล้วนหน้าซีด แต่ซีดแค่นี้ยังไม่พอ ผมพานิสิตบางรายไปที่เกาะกระดาด เพื่อดูความพินาศครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ที่นี่เคยมีหญ้าทะเล 810 ไร่ ปัจจุบันหายไปเกือบหมด เหลือแต่พื้นทรายโล่ง ๆ และตอหญ้าทะเลหรอมแหรม คราวก่อนที่มา คณะประมงร่วมกับบางจากฯ ปลูกหญ้าทะเลไว้บ้างเพื่อทดลองหาทางฟื้นฟู ที่น่าตกใจคือหญ้ารอด! แม้ตายมากกว่ารอด แต่แค่เพียงไม่กี่ต้นก็ทำให้ผมยิ้มได้แล้ว มันเหลือเชื่อมาก ๆ เพราะตอนปลูกคิดว่าตายหมดแน่ ผมจึงสรุปสถานการณ์ให้เด็ก ๆ ฟังว่า ที่นี่เริ่มดูดีขึ้นนะ หญ้าตามธรรมชาติก็เริ่มเขียวขึ้นนิดหน่อย ถือว่ามีความหวังเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนก่อนที่เจอแต่ความตาย ถึงตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าทำไมถึงดูดีขึ้น แต่ผมยังยิ้มได้นิด ๆ

            ค่ายทะเลเดือดยังพากลุ่มคนที่จะกลุ่มคนที่จะต้องรับผิดชอบทางทะเลไปดูชีวิตของชาวประมงในพื้นที่

                “เราไปหาพี่ชาวประมง พวกเขานั่งแกะปูอยู่ที่เกาะกระดาด พี่เขายิ้มเศร้า ๆ เมื่อนิสิตถามว่าลุงได้ปูเยอะไหม? คำตอบคือวางอวนจมปู 5 กอง แต่ละกองยาว 100 เมตร รวมเป็น 500 เมตร ทั้งหมดได้ปูมา 2 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท รวมแล้วได้เงิน 600 บาทกับการทำงานตั้งแต่เย็นจรดเช้า ยังไม่นับค่าน้ำมัน ค่าซ่อมอวน ค่านี่นั่น ฯลฯ แต่ลุงก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ลุงมีเรือเล็ก ๆ อยู่ลำเดียว ทำเป็นอยู่อย่างเดียว จะให้ขายเรือไปทำอาชีพอื่นก็คงเป็นไปไม่ได้

​          มันเป็นความจริงที่แสนเศร้า น้ำร้อนจัด สัตว์น้ำหนีหาย ปะการังฟอกขาวตาย หญ้าทะเลสูญสลาย แล้วสัตว์น้ำจะกลับมาได้อย่างไร อนาคตอยู่ที่ไหน นั่นแหละคือความโหดร้ายของโลกร้อนทะเลเดือด และความโหดร้ายที่เราเจอนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรื่องน่าเศร้ายังมีมากกว่านี้ตามอุณหภูมิโลกที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทะเลจะตายมากขึ้นเรื่อย ๆ คนอย่างคุณลุงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่พวกเราคนอื่นได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าเรากำลังช่วยโลก เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว​

​          น่าเสียดายที่ดีที่สุดแล้วมันยังไม่พอ คำปลอบใจตัวเองก็ต่างจากการโกหกตัวเองเพียงเล็กน้อย ผมอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังเช่นนี้ แน่นอนว่าเขาเศร้าเธอหน้าหมองคล้ำ แล้วพวกหนูจะเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลไปทำไม ในเมื่อทุกอย่างในทะเลใกล้สูญสลาย กว่าหนูจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ เหมือนอาจารย์ได้ ก็คงไม่เหลืออะไรให้พวกหนูต้องดูแลอีกแล้ว

          “ครูไม่ได้เก่ง ผมตอบเด็ก ๆ แต่ครูรักทะเลมากพอ ครูตั้งใจมาเป็นแนวหน้ารักษาทะเล ในยามที่ทะเลกำลังเดือด ความตายทุกแห่งหน นั่นคือช่วงเวลาที่ครูจะเก่งที่สุด ครูจะแกร่งเกินกว่าใครคิด ครูจะทำงานหนักไปทะเลทุกสารทิศ เพราะครูรักทะเลมากพอ

พวกเธอล่ะ? พวกเธอรักทะเลมากพอหรือยัง?

​นี่ไม่ใช่คำถามต่อนิสิต แต่เป็นคำถามต่อคุณผู้อ่านทุกท่าน

​เรารักโลกมากพอหรือยัง?