เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย จงจิตงาม คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันได้มีการซ่อมแซมประติมากรรมปูนปั้นภาพยักษ์ขนาดใหญ่ในศิลปะล้านนา ด้วยการปั้นพอกจนกลายเป็นของใหม่ประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ขนาดใหญ่สูงราว 2 เมตร เป็นรูปยักษ์ในศิลปะล้านนา ที่พบอยู่ภายในวัดอุโมงค์มาแต่โบราณ ครั้งวัดอุโมงค์ยังเป็นวัดร้างอยู่กลางป่า หลายร้อยปีต่อมา ได้มีการฟื้นฟูวัดอุโมงค์ขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 และประติมากรรมยักษ์ก็ถูกรักษาไว้ตามเดิมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประติมากรรมยักษ์ที่วัดอุโมงค์ มีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี

โดย ประติมากรรมยักษ์ดังกล่าว สภาพยังสมบูรณ์อยู่มาก มีศีรษะ และลำตัวครบ แม้แขนจะชำรุดบ้าง แต่ก็เป็นศิลปะที่มีค่า ศิลปะล้านนาภาพยักษ์ในสภาพที่สมบูรณ์อายุหลายร้อยปี เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก ประติมากรรมยักษ์ที่วัดอุโมงค์ จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นต้นแบบในการศึกษาภาพยักษ์ในศิลปะล้านนา ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างเฉพาะตัวไปจากภาพยักษ์ในศิลปะอยุธยา และรัตนโกสินทร์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งพบเห็นได้ง่ายในจำนวนมากกว่า ฉะนั้น ยักษ์ที่วัดอุโมงค์จึงมีความสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันหาได้ยากที่ควรรักษาไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีบุคคลจากภายนอกที่ไม่รู้คุณค่าของศิลปะโบราณ ได้นำช่างฝีมือรุ่นใหม่มาทำการปั้นพอกปูนทับยักษ์โบราณในรูปแบบที่ปั้นใหม่ขึ้นทั้งหมด ทำให้ยักษ์วัดอุโมงค์จึงกลายเป็นของใหม่อย่างสิ้นเชิง ไม่เห็นผิวปูนโบราณแต่ดั้งเดิมเลยแม้แต่น้อย เป็นการกระทำที่ทำให้ศิลปะล้ำค่าของโบราณหมดคุณค่า และก่อให้เกิดความเสียหายทางศิลปกรรม เพราะการซ่อมที่ถูกต้องนั้น ในยุคปัจจุบันก็มีหลักการสากลถือปฏิบัติอย่างชัดเจน เช่น การทำความสะอาดผิวปูน การเสริมความแข็งแรงให้กับเนื้อปูนโบราณ หากจำเป็นต้องเสริมปูนเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ต้องระวังไม่ให้ไปทับกับเนื้อปูนที่เป็นฝีมือเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อน

“…การอนุรักษ์ ถ้าหากกระทำอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถรักษาศาสนวัตถุโบราณให้แข็งแรงสวยงามตามสภาพฝีมือช่างเดิมได้ โดยไม่ต้องปั้นพอกใหม่ดังที่ปรากฏอยู่ ฉะนั้น แม้ว่าจะเจตนาดีที่อยากซ่อมแซมของโบราณ แต่ผู้ซ่อมก็ควรมีความรู้ในหลักการอนุรักษที่เป็นสากล การซ่อมแซมเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ทำลายคุณค่าของฝีมือช่างแต่เดิม หากไม่มีความรู้ก็ควรเข้าไปปรึกษาหารือผู้ที่มีความรู้ก่อนการดำเนินการ งานปั้นใหม่ในปัจจุบันเป็นของที่ทำได้ง่าย ทำเมื่อไรที่ไหนก็ได้ แต่ศิลปะที่ตกทอดมาแต่โบราณ ไม่สามารถทำเทียมได้ในสมัยปัจจุบัน ฉะนั้น จึงควรรักษาและซ่อมในแบบที่เคารพฝีมือครูช่างโบราณ ไม่ควรไปพอกทับจนเป็นของใหม่อย่างที่เห็น…” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย กล่าวและเผยต่อว่า

ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เป็นต้นความคิดในการซ่อม และออกเงินในการซ่อมควร ออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ออกมาชี้แจงกับสาธารณะ เพราะงานศิลปะโบราณไม่ใช่สมบัติส่วนตัว หากคิดว่าการกระทำเช่นนั้นของตนถูกต้อง ก็ควรออกมาชี้แจงเหตุผลของตนแก่สังคมด้วย เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการดูแลศิลปะอันล้ำค่า

นอกจากนี้ ในฐานะที่ยักษ์ดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุของชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบการเข้าไปซ่อมแซมในลักษณะเช่นนั้น ว่าได้กระทำไปถูกขั้นตอนหรือไม่ ในฐานะที่วัดอุโมงค์ เป็นโบราณสถานของชาติในกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เมื่อเกือบ 90 ปีก่อน

อีกทั้งวัดอุโมงค์ มีความสำคัญยิ่งจนถึงขนาดพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ เมื่อครั้งเสด็จจากบางกอก มายังเชียงใหม่ล้านนา ได้ทรงประทับช้างบุกป่าเสด็จมาชมถึงวัดอุโมงค์ด้วยพระเนตรของพระองค์ ตั้งแต่เมื่อ 2 มกราคม พ.ศ. 2470 ดังปรากฏการพรรณนาไว้ใน “โคลงนิราศล่องแก่งแม่ปิง” ก็ย่อมสะท้อนถึงความสำคัญยิ่งของโบราณสถาน โบราณวัตถุในวัดอุโมงค์ ที่มีมาอย่างยาวนานแต่อดีต ผู้ใดก็ตามที่จะมาซ่อม ก็ควรเรียนรู้ประวัติความเป็นมา และควรเคารพอดีตก่อนที่จะกระทำการใด ๆ ที่อาจเกิดความเสียหายตามมาในเรื่องที่เกิดขึ้น.