หากยังจำได้ ไม่นานมานี้มีเหยื่อฆาตกรรมโหดต่างชาติ โดยเงื้อมือคนชาติเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศไทย หลังคดีคลี่คลาย ยังมีข้อสงสัยแฝงความห่วงใย การก่อ“อาชญากรรม”ของ“อาชญากร”ต่างชาติ โดยเฉพาะการ“เรียกค่าไถ่”ที่ไม่มีให้เห็นบ่อยหนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว…มักสร้างความหวั่นวิตกได้เสมอ

ชายปริศนาโทรรีด 25 ล้านแลกปล่อยตัวสาวทัวริสต์จีน คาดอาจถูกจับเรียกค่าไถ่

ทีมข่าวอาชญากรรม”มีโอกาสพูดคุยเจาะลึกกับ“ปรมาจารย์นักสืบ” พล...นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. เพื่อฉายภาพสถานการณ์ พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มแผนประทุษกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

พล.ต.ต.นพศิลป์ ระบุ ในอดีตรูปแบบการเรียกค่าไถ่ของต่างชาติมักเป็นกลุ่มแก๊ง อั้งยี่ เช่น แก๊งชาวจีนที่เข้ามารวมกลุ่มเพื่อจับเหยื่อ โดยส่วนใหญ่จะรวมตัวในประเทศไทยก่อน เพื่อตั้งกลุ่มอิทธิพลของพวกเดียวกัน อย่าง คนจีน คนรัสเซีย จากนั้นจึงแผ่อิทธิพลถึงเพื่อนร่วมชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย

สำหรับการเลือก“เหยื่อ”มักเลือกเฉพาะผู้มีสถานะ มีทรัพย์สินเงินทองที่มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ผ่านการเข้าไปตีสนิทและหาโอกาสอุ้มไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งอดีตจะใช้วิธีกักขัง และส่งข้อความไปถึงครอบครัว ญาติ เพื่อรีดเงิน ลักษณะเป็นเงินสดใส่กระเป๋าแล้วนำไปวางตามจุด เมื่อได้เงินแล้วจึงปล่อยตัวเหยื่อ

“ในอดีตไม่ค่อยมีเหตุฆ่ากัน ส่วนใหญ่ต่างชาติที่มาประกอบอาชีพในประเทศไทย มักมีความกลัวเรื่องอิสรภาพ และความปลอดภัย หากถูกจับตัวจะมอบเงินให้กับคนร้าย”

อย่างไรก็ตาม โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปจากการที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก มีผู้คนหลากชาติหลายภาษา เฉพาะแผนประทุษกรรมย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 64ถึงปัจจุบัน มีคดีเรียกค่าไถ่ 12 คดี จากการเคลื่อนตัวจะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นการรวมกลุ่มกันแบบ“เฉพาะกิจ” และมีการเลือกเหยื่อ

วิธีแรกเลือกจาก“กลุ่มคนที่เข้ามาเป็นนักท่องเที่ยว” มีเงินทอง และใส่ทรัพย์สิน รู้ว่าเหยื่อซื้อที่พัก คอนโด บ้าน เป็นที่อาศัย มีรถหรู ดูมีฐานะ จึงเลือกเหยื่อชาติเดียวกัน

กลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาเรียนหนังสือ” และเชื่อว่าพ่อแม่ที่อยู่ต่างประเทศย่อมมีเงินทองแน่นอน และ “กลุ่มเหยื่อสีเทา” ซึ่งคนร้ายเชื่อว่าหลบหนีคดีเข้ามาแน่นอน และคิดว่าเหยื่อกลุ่มนี้ต้องมาประกอบธุรกิจสีเทาในประเทศไทย หากจับตัวได้มีโอกาสได้เงินและไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วย

“ในรอบ 3 ปี ทั้ง 12 คดี ปรากฎว่ามี 10 คดี เมื่อตำรวจทราบข่าว และผู้เสียหายโอนเงินให้กลุ่มคนร้าย เหยื่อรอดทุกคดี ซึ่งตามทฤษฎีอาชญากรรม หากคนร้ายกับเหยื่อ“ไม่รู้จัก”กัน เมื่อได้ทรัพย์สินแล้ว ส่วนใหญ่จะ“ปล่อย”เหยื่อไป แต่หากคนร้ายกับเหยื่อ“รู้จัก”กัน โอกาสที่คนร้ายจะปล่อยเหยื่อให้มาแจ้งความดำเนินคดี และยืนยันว่าคนร้ายคือใครนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก”

สำหรับการลงมือเรียกค่าไถ่ พล.ต.ต.นพศิลป์ เผยว่า จากเดิมต้องนำทรัพย์สิน หรือกระเป๋าเงินไปวางไว้ตามจุดต่างๆ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นเงินดิจิทัล ผลคือการเรียกค่าไถ่สามารถกระทำได้โดยตรงกับเหยื่อทันที หรือให้ญาติโอนเข้ามาในโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ ก่อนโอนไปเข้ากระเป๋าดิจิทัลของคนร้าย จุดนี้ถือเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลง
พล.ต.ต.นพศิลป์ ระบุ ด้วยเส้นทางเงินที่ถูกโอนต่อเป็นทอดๆ ทำให้การอายัดหรือดำเนินการใดๆล่าช้า ประกอบกับคนร้ายในยุคนี้มักรู้ว่าหลังเกิดเหตุ หากได้เงินค่าไถ่แล้วจะปล่อยตัวเหยื่อและรีบหลบหนีออกนอกประเทศทันที กว่าตำรวจจะรู้หรือกว่าเหยื่อจะเข้าแจ้งความย่อมล่าช้า และกว่าจะตรวจสอบว่าคนร้ายคือใคร ก็ฉวยโอกาสหลบหนีไปแล้ว

หากถามความยาก-ง่ายในการติดตามคนร้าย ประเด็นนี้ต้องพิจารณาจากจุดเริ่มต้น หากเป็นกรณีเหยื่อถูกปล่อยตัวและรีบแจ้งความ ตำรวจจะเร่งรัดประชุมคดีเพื่อพิสูจน์ทราบและตรวจสอบว่าเป็นใคร ตามด้วยการประสานงานกับหน่วยเกี่ยวข้องอย่าง สตม. เพื่อให้รู้ตัวคนร้ายที่เข้า-ออกประเทศเพื่อสกัดกั้น เช่น บล็อกทุกช่องทางออกประเทศทั้งสนามบิน ด่านชายแดน และประสานประเทศเพื่อนบ้าน ขอความร่วมมือจับกุม

ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ยืนยันว่าคนร้ายรู้เทคนิค หลังก่อเหตุจึงรีบหลบหนีไปโดยเร็วที่สุด กว่าที่ตำรวจจะรู้ตัวก็พ้นจากประเทศไทยไปแล้ว”
ส่วนห้วงเวลาในการติดตาม เนื่องจากส่วนใหญ่มักมาจากการรับแจ้งเหตุคนหาย เช่น เหยื่อเข้ามาประเทศไทยแล้วญาติไม่สามารถติดต่อได้ อีกกรณีได้รับข้อความผ่านทางโทรศัพท์ว่าญาติถูกจับเรียกค่าไถ่ กรณีนี้ตำรวจมีการประชุมทุกพื้นที่ว่าห้ามปล่อยปละละเลย หากรับแจ้งความแล้วต้องตามให้ได้ว่าบุคคลที่หายไปนั้นมาจากเหตุเรียกค่าไถ่ หรือเหตุเรียกร้องของตัวเหยื่อเองที่เที่ยวแล้วเงินหมด หรือเล่นพนันหมด แล้วอ้างถูกเรียกค่าไถ่

อีกประเด็นคือตำรวจต้องวิเคราะห์ประเด็นให้ขาดว่า เหยื่อถูกอุ้มไปจริงหรือไม่ ยืนยันว่าตำรวจเองต้องแข่งขันกับเวลาด้วย เพราะไม่รู้ว่าชีวิตของตัวประกันถูกคนร้าย ข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยวจนเสียชีวิตหรือไม่”
พล.ต.ต.นพศิลป์ ระบุ ในช่วงปี 64 -67 ที่มีจำนวน 12 คดี ในจำนวนนี้เป็นเหยื่อคนจีน 10 คดี เกาหลี 2 คดี จากการถอดแผนประทุษกรรมเป็นบทเรียน พบคนจีนก่อเหตุกับชาติเดียวกัน 7 คดี ในจำนวนนี้มี 2 คดี ที่คนจีนร่วมกับไทย , คนไทยก่อเหตุอุ้มต่างชาติ 1 คดี , คนไทยก่อเหตุร่วมกับคนสิงคโปร์ 1 คดี คนไทยร่วมกับคนอิสราเอล 1 คดี และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรียกค่าไถ่มี 2 คดี (ตำรวจทำเอง 1 คดี และตำรวจร่วมกับคนจีน 1 คดี)

ความเคลื่อนไหวในห้วง 3-4 ปีนี้จึงสรุปได้ว่า เหยื่อเรียกค่าไถ่ส่วนใหญ่เป็นคนจีน และคนร้ายก็เป็นคนชาติเดียวกัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน