จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด ผู้ต้องขังคดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้ก่อเหตุหลบหนีออกจากสถานคุมขัง กระทั่งทางการไทยได้ประสานขอรับการสนับสนุนจากตำรวจสากล อินโดนีเซีย จนสามารถติดตามจับกุมได้ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเชีย ก่อนส่งกลับไทย และส่งคุมขังที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก นายยุทธนา นาคเรืองศรี ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ถึงประเด็นคุมขังนายเชาวลิตว่า สำหรับการนอนเรือนจำฯ เป็นคืนที่สองภายในห้องกักโรคโควิด-19 ของเจ้าตัว เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (6 มิ.ย.) ได้รับประทานข้าวสวยและแกงผัดไก่ โดยสังเกตว่าเจ้าตัวทานอาหารหมดตลอด ส่วนช่วงค่ำพบว่านอนหลับปกติดี ยังไม่มีอาการเครียด แต่ได้มีการร้องขอหนังสือสวดมนต์กับเจ้าหน้าที่ ส่วนเช้าวันนี้ เจ้าตัวได้ตื่นมาออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย และรับประทานอาหารเช้าไปเมื่อเวลา 08.30 น. ส่วนเมื่อพ้นระยะกักโรคโควิด-19 จำนวน 5 วัน ผู้ต้องขังจะให้รายชื่อบุคคลที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ 10 รายชื่อ ซึ่งจะเริ่มให้เยี่ยมได้หลังพ้นระยะกักโรค (กักโควิด 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน) และรวมถึงกรณีการแต่งตั้งทนายความของผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมก่อเหตุหลบหนี อาจเป็นเหตุให้คณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดวินัยผู้ต้องขังของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ต้องส่งผลสรุปโทษทางวินัยมาให้เรือนจำกลางบางขวางภายในสัปดาห์นี้ว่าต้องบังคับโทษคุมขังเดี่ยวนานกี่เดือน หรือกำหนดการลงโทษทางวินัยอย่างไรบ้าง

นายยุทธนา กล่าวอีกว่า ภายในเดือน มิ.ย. เรือนจำฯ จะเข้าสู่ขั้นตอนการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เช่น ตรวจสอบว่าผู้ต้องขังมีการกระทำความผิดในเรื่องใด ซึ่งกรณีของนายเชาวลิตต้องดูเป็นวันต่อวัน มีการสะสมความเครียดหรือคิดอะไรอยู่หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเจ้าตัวมีลักษณะพิเศษ คือ การพูดจาโน้มน้าวได้ดี และเขาเคยต้องราชทัณฑ์มาก่อน ย่อมเข้าใจวัฒนธรรมของเรือนจำฯ พอสมควร ทำให้เขารู้แน่นอนว่าเรือนจำฯ จะมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และในช่วงแรกอาจมีความพยายามทำตัวโลว์โปรไฟล์ เราจึงต้องดูความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง อีกทั้งในวันเสาร์อาทิตย์นี้ ปกติจะเป็นวันฟรีเดย์ (Free Day) ของผู้ต้องขังทั่วไปในแดนขังที่จะมีการรับชมโทรทัศน์ ส่วนนายเชาวลิตจะถูกตัดขาดจากสิ่งเหล่านี้ แต่เรื่องเสียงต่างๆ ก็อาจจะดังไปถึงห้องกักโรคของนายเชาวลิตได้ ตนจึงต้องดูว่าเจ้าตัวจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรหรือไม่ นอกจากนี้ ทางเรือนจำฯ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องขังภายในแดนเพื่อแยกกลุ่ม แยกบ้าน โดยเฉพาะผู้ต้องขังกลุ่มที่เคยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน ทั้ง จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง หากเป็นไปได้ เราจะดูในเรื่องของความสัมพันธ์ของนายเชาวลิตและผู้ต้องขังเหล่านั้นว่าเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก่อนหรือไม่ หรือมีความขัดแย้งมาก่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสงบเรียบร้อย

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า เรือนจำกลางบางขวางมีพื้นที่สำหรับคุมขังเดี่ยวโดยเฉพาะ อยู่ในแดน 2 (แดนควบคุมผู้ต้องขังเข้าใหม่ และควบคุมนักโทษเด็ดขาดอัตราโทษสูงตั้งแต่ 50 ปี ถึงตลอดชีวิต และโทษประหารชีวิต) ซึ่งจะใช้พื้นที่นี้ในการบังคับโทษ อย่างไรก็ตาม ห้องขังเดี่ยวนี้จะไม่มีพัดลมในห้อง แต่มีส้วมซึมสำหรับทำความสะอาดร่างกายและชำระล้าง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำอาหารไปส่งให้ถึงห้อง เพื่อไม่ให้นายเชาวลิตได้เดินลงจากอาคารมาพบเจอหรือปะปนกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ในแดน อีกทั้งนายเชาวลิตจะไม่สามารถออกจากห้องนี้ได้ จนกว่าจะครบกำหนดการบังคับโทษทางวินัย ขณะที่การรักษาพยาบาล ภายในเรือนจำมีพยาบาลประจำแดนต่างๆ อยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลต้องขึ้นไปประเมินอาการเจ็บป่วย คล้ายการตรวจโรคอายุรกรรมทั่วไปเหมือนสถานพยาบาล กรณีอาการไม่หนักหรือวิกฤตจ่ายยาตามอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีความจำเป็นต้องรักษาจึงจะพิจารณาย้ายไปแดน 12 (แดนพยาบาล) และถ้าหากอาการแย่ลง ก็จะส่งไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ทันฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนถ้าจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ หรือพบแพทย์เฉพาะทางก็ต้องประสานส่งต่อ รพ.ตำรวจ หรือ รพ.รักษาเฉพาะ เป็นต้น

“ยืนยันว่าในกระบวนการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ เจ้าหน้าที่และแพทย์มีการตรวจร่างกายนายเชาวลิตอย่างละเอียด และผลออกระบุชัดว่ามีสุขภาพแข็งแรงดีเยี่ยม สุขภาพจิตดี ยังไม่มีภาวะเครียด” ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ระบุ

สำหรับการจัดลำดับชั้นนักโทษ นายยุทธนา ระบุว่า มีไว้เฉพาะนักโทษเด็ดขาด หรือผู้ที่ถูกคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก กรณีนายเชาวลิตที่ก่อเหตุหลบหนี ยังเป็นเพียงผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่สามารถจัดชั้นได้ แต่ตามหลักการราชทัณฑ์ยึดเรื่องความปลอดภัยสูงสุด โดยช่วงที่ผ่านมา มีการปรับเพิ่มเติมแก้ไขกฎกระทรวง หรือระเบียบกรมราชทัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจยังเป็นภัยอันตรายต่อสังคม ให้อยู่ภายในเรือนจำนานขึ้น

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ด้วยนายเชาวลิตมีพฤติกรรมเคยหลบหนีการคุมขัง ดังนั้น ในช่วงกักโรคโควิด-19 ทางเรือนจำฯ จึงมีมาตรการเฝ้าระวังไม่ให้เผชิญเหตุอันตรายด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดจับภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์ 24 ชม. เบื้องต้นนายเชาวลิตยังอยู่ในห้องกักโรคเพียงลำพัง เพราะยังไม่มีผู้ต้องขังโทษประหารชีวิตย้ายเข้ามา คาดว่าการอยู่คนเดียวจะทำให้มีเวลาทบทวนตัวเอง ยอมรับว่าทางเรือนจำฯ คำนึงถึงการคิดสร้างสถานการณ์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยืนยันว่าเรือนจำฯ ค่อนข้างตื่นตัว และมีแผนป้องกันการก่อเหตุหลบหนีแน่นอน

“เรามีการวางขั้นตอนเตรียมรับมือไว้แล้ว โดยเฉพาะกระบวนการรับตัวเข้าเรือนจำฯ เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจร่างกายนายเชาวลิตครบถ้วน ทั้งการเอกซเรย์ วัดสัญญาณชีพ ค่าความดัน การเจาะเลือด เป็นต้น จนได้ผลสรุปว่าเป็นบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงดีเยี่ยม หากในอนาคตจะมีการกล่าวอ้างอาการเจ็บป่วยต่างๆ เราก็สามารถใช้เอกสารบันทึกการตรวจร่างกายเหล่านี้ยืนยันได้” นายยุทธนา ระบุ

เมื่อถามถึงการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ นายยุทธนา ระบุ เป็นสิทธิของผู้ต้องขังเด็ดขาดทุกราย ซึ่งมีทั้ง 1.ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย และ 2.การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป เบื้องต้นเข้าใจว่านายเชาวลิต จะไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ เนื่องจากสถานะผู้ต้องขังขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่ทราบอัตราโทษ จึงยังไม่สามารถปรับชั้นได้ ทั้งนี้ การพระราชทานอภัยโทษ ยังต้องดูแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่ามีการระบุถึงรายละเอียดรายคดีที่จะได้รับสิทธิ หรือยกเว้นด้วย

นายยุทธนา เผยว่า หากมองในส่วนของคดีที่นายเชาวลิตถูกศาลพิพากษาตัดสิน ทราบว่าบางคดีมีการลงโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี ยังไม่นับรวมในคดีอื่นๆ เช่น พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยรวมแล้วกว่า 10 คดี บางคดีก็มีโทษจำคุก 2 ปี รวมแล้วเป็น 10 ปี ซึ่งในบางคดีที่มีรายละเอียดที่ซับซ้อน ก็อาจจะมีโทษเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ นายยุทธนา ปิดท้ายว่า ภารกิจของตนมีอยู่ 4 ประการ คือ 1.ไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนี 2.ไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่อผู้ต้องขัง 3.การประสานงานหน่วยงานในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง และ 4.การให้สิทธิผู้ต้องขังติดต่อทนายความ

ขณะที่ นพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายเชาวลิต ได้รับประทานอาหารเมนูข้าวสวยและต้มจับฉ่ายไก่ ซึ่งรับประทานอาหารหมด ส่วนสภาพจิตใจยังคงปกติดี ไม่พบอาการความเครียดสูง แต่มีบ้างระหว่างวันที่เจ้าตัวนั่งมองเหม่อไปบริเวณรอบ ๆ ห้องกักโรค คล้ายกำลังครุ่นคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงบางครั้งก็มีการมองที่กล้องวงจรปิด แต่สิ่งสำคัญที่เราเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และพยาบาล คือ การห้ามพูดคุยกับผู้ต้องขัง และต้องระมัดระวังเรื่องการพยายามสร้างเครือข่าย การพูดจาโน้มน้าวต่างๆ แต่โดยรวมตอนนี้สถานการณ์ยังปกติดี อย่างไรก็ต้องพิจารณาเป็นรายวันต่อไป.