นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยในงานสัมมนา “UNLOCKING ESG VALUE FOR BUSINESS SUCCESS” จัดโดย สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย หัวข้อ “นโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม” ว่า กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการแผนการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) คาดว่า ใช้ได้ในปีงบประมาณ 68 โดยจะเริ่มเปลี่ยนการเก็บภาษีน้ำมัน เป็นการผูกกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และไม่ต้องกังวล เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งจะอยู่ในภาษีสรรพสามิตปกติ เช่น น้ำมันเบนซิน ในอนาคตจะเสียภาษีคาร์บอนหรือราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิต ประมาณ 0.436 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซล จะอยู่ที่ประมาณ 0.540 บาทต่อลิตร เป็นต้น

“ประโยชน์ที่จะได้ ภาษีดูเป็นอะไรที่น่ากลัว แต่จะทำให้คนตระหนักรู้ว่า เติมน้ำมันทีเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร ยืนยันว่า ราคาไม่ได้เพิ่มขึ้น เหมือนตอนเปลี่ยนการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เก็บตามกระบอกสูบที่จะเสียแพงเมื่อกระบอกสูบใหญ่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์แทน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งเรื่อง Carbon Tax เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จะทำให้เกิดราคาคาร์บอน ผลประโยชน์จะตามมามากหมาย โดยเฉพาะตลาดคาร์บอนจะเกิดขึ้นในไทย ซึ่งปัจจุบันมีตลาดคาร์บอนในยุโรป แต่ตลาดไทยยังไม่มี จะเป็นรากฐานการสร้างตลาดคาร์บอน โดยเรื่องนี้จะหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปีงบประมาณหน้า”  

นายเอกนิติ กล่าวว่า ในระยะต่อไป กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์สำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดเก็บภาษีรถโบราณ

ด้านการจัดเก็บรายได้ปีนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันกรมฯจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากตั้งเป้าไว้สูงที่ 598,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ 25% การเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้า จากการดำเนินมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชน และมาตรการ EV ที่เก็บภาษี 2% ขณะที่รถสันดาปเก็บภาษี 25-35% แต่ข้อดีคือเห็นการย้ายฐานการผลิตมายังไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ เพราะกรมฯ จัดเก็บภาษีน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการจัดเก็บภาษีทั้งหมด ด้านรถยนต์ 60%

“ส่วนแนวคิดที่จะให้ลดภาษีสรรพสามิตต่อนั้น เป็นเรื่องนโยบายที่ต้องหารือกัน แต่ต้องบอกว่า ทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย เช่น นโยบายภาษีน้ำมัน ปีนี้เสียรายได้ 25,000 ล้านบาท ก็มีข้อดี และข้อเปรียบเทียบด้วย แต่ต้องหารือกันทางนโยบาย ขณะที่ทั้งปีนี้ คาดว่าจะเก็บรายได้ประมาณ 520,000 ล้านบาท หากไม่มีการดำเนินนโยบายภาษีเพิ่มเติม”นายเอกนิติ กล่าว

ธปท.ชี้แบงก์พาณิชย์พร้อมหนุนเงินทุนสีเขียว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปล่อยสินเชื่อกรีนโลนประมาณ 190,000 ล้านบาท คิดเป็น 1.4% ของสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่งถือว่ายังเป็นจำนวนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนสินเชื่อทั้งระบบ แต่เห็นถึงการขยายตัวมากขึ้น ส่วนการออกตราสารหนี้กรีนบอนด์ อยู่ที่ 882 พันล้านบาท คิดเป็น 5% ของยอดการออกตราสารหนี้ทั้งหมด

ประกอบกับ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีเป้าหมาย Net Zero ด้วย และ ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเงินทุนเพื่อความยั่งยืนสินเชื่อสีเขียวในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่เกี่ยวข้อง เช่น สินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด สินเชื่อที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกเกณฑ์บอนด์ให้กับภาคธุรกิจ

ตลท.มอง ESG เป็นเทรนด์ลงทุนโลก

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในหัวข้อ   “ทำไมต้องทำ ESG บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะได้ประโยชน์อย่างไร” ว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ต้องทำ ESG  เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเทรนด์ของผู้บริหาร หรือ ซีอีโอ ชั้นนำที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องโลกร้อนหรือสนใจเรื่องสังคมมากขึ้น โดยเมื่อกลายเป็นประเด็นที่คนเริ่มพูดกันมากขึ้น จึงทำให้องค์กรไม่ได้สนใจแค่กำไรอย่างเดียว แต่หันมามุ่งด้านการประหยัดพลังงานและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco)

สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากความสนใจในเรื่องนี้ที่มีมากขึ้นและอำนาจหรือพลังของผู้ถือหุ้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนใหญ่ของไทย สะท้อนได้จากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านธรรมาภิบาลหรือสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น 120 กองทุน จากเดิมที่มีเพียง 2 กองทุน และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเกือบ 80,000 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่ายังดูไม่มากแต่ยังโตต่อเนื่อง โดยสิ่งที่กองทุนเหล่านี้ทำจะเป็นเสียงของนักลงทุนให้บริษัทจดทะเบียนต้องใส่ใจด้าน ESG หรือไม่ทำไม่ได้ เพราะอย่างน้อยคนที่เป็นคนสื่อสารที่สำคัญของบริษัทต้องตอบคำถามให้ได้หากผู้ถือหุ้นถามว่าบริษัทมีนโยบายต่อการลดการใช้พลาสติก,การดูแลพนักงาน หรือนโยบายการดูแลความหลากหลายทางเพศในบริษัทอย่างไร

ขณะที่อนาคตกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับด้าน ESG จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การรายงานในทางบัญชีหรือการรายงานเพื่อไปทำอันดับเครดิตเรตติ้งด้าน ESG จะมากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทต้องใส่ใจ เพราะหากไม่สามารถทำได้ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบทางการค้าที่อาจทำให้บริษัทจำเป็นต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งลักษณะนี้ไม่ใช่แค่โลกเปลี่ยน แต่ถือเป็นการถูกบังคับให้ทำ แต่หลังๆก็มีบางบริษัทที่อยากจะทำเอง เพราะสิ่งที่ดีกับคนหรือโลกมันก็ดีกับตัวบริษัทเองด้วย อย่างไรก็ตามหากมุมมองของบริษัทเปลี่ยนไปด้าน ESG มากขึ้น เชื่อว่าก็จะเห็นคนมาทำมากขึ้น