นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่ ประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 67-80 (พีดีพี 2024) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (แก๊ส แพลน) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (ออยด์ แพลน) โดยจะคงอัตราค่าไฟตลอดแผนพีดีพี 2024 ไม่เกินหน่วยละ 4 บาท เป็นอัตราใกล้เคียงแผนเดิมที่เฉลี่ยหน่วยละ 3.66 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค ซึ่งอัตราค่าไฟนี้ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที  

“สนพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพีดีพี 2024 และร่างแผนแก๊ส แพลน 2024 โดยในวันที่ 12–13 มิ.ย. 67 จะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ วันที่ 17 และ 19 มิ.ย. 67 ส่วนอีก 3 แผน ได้แก่ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่า จะเปิดรับฟังความเห็นภายในเดือน มิ.ย.นี้เช่นกัน หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำไปประกอบเข้าสู่แผนพลังงานชาติ และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติภายในเดือน ก.ย.นี้”

สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 67-80 มั่นใจว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากการจัดทำแผนฯ ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ 3 ด้าน คือ 1.ด้านเน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ 2.ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 3.ด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติที่ สนพ. กำลังจัดทำอยู่

อย่างไรก็ตามโดยแผนพีดีพีฉบับใหม่นี้ จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นอยู่ที่ 51% ส่วนใหญ่เป็นโซลาร์, ก๊าซธรรมชาติ 40% ซึ่งจะมีก๊าซไฮโดรเจน 5% อยู่ในส่วนนี้ด้วย ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะรวมอยู่ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และในปลายแผนฯ จะมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (เอสเอ็มอาร์) เข้ามาเป็นทางเลือก ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (เน็ท ซีโร่) ภายในปี 2608

นอกจากนี้แผนพีดีพี 2024 จะมีการใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ  ต้องไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง รวมทั้งยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) รวมถึงจะมีโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอาร์ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์พัฒนาไปมากและไม่ปล่อยมลพิษ ทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรปให้ความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าเอสเอ็มอีอาร์

ส่วนแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 67-80 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ และบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ ได้ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในระยะยาวจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 4,859 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 67 เป็น 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 80 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจน การใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ลดลงตามปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และการใช้ในภาคขนส่ง ตามจำนวนรถเอ็นจีวีที่มีแนวโน้มลดลง