สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่ารัฐบาลญี่ปุ่น ประเทศมหาอำนาจแห่งวัฒนธรรมการ์ตูน อาทิ ดราก้อน บอล และแฟรนไชส์เกม ซุปเปอร์ มาริโอ และไฟนอล แฟนตาซี ต้องการจะขยายตลาดต่างประเทศของวิดีโอเกม, มังงะ และอนิเมะ ให้ได้ 4 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) ภายใน 10 ปี โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถเติบโตได้อย่างทัดเทียมกัน กับอุตสาหกรรมเหล็กและเซมิคอนดักเตอร์

กลยุทธ์ ‘คูล เจแปน’ ระบุเป้าหมายของรัฐบาล ในการส่งออกทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ได้ 20 ล้านล้านเยน (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2576

ทั้งนี้ จากสถิติเมื่อปี 2565 อุตสาหกรรมเกม, อนิเมะ และมังงะของญี่ปุ่น กวาดรายได้จากต่างประเทศได้ถึง 4.7 ล้านล้านเยน (ราว 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขการส่งออกไมโครชิป ซึ่งมีมูลค่า 5.7 ล้านล้านเยน (ราว 1.3 ล้านล้านบาท)

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อนิเมะและมังงะมีบทบาทสำคัญ เพื่อดึงดูดแฟนคลับวัยเยาว์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในต่างประเทศ และทำหน้าที่เป็น ‘ประตู’ สู่ญี่ปุ่น” โดยช่องทางสตรีมมิงที่เฟื่องฟูในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ช่วยเพิ่มชื่อเสียงของอนิเมะหลายเรื่อง รวมไปถึง ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก มากไปกว่านั้น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของวีทูบเบอร์ หรือแอนิเมชั่นยูทูบเบอร์เสมือนจริง ยังช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นในระดับสากลอีกด้วย

เมื่อการเติบโตของภาคส่วนเหล่านี้ผนวกกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น แฟชั่น, เครื่องสำอาง และการท่องเที่ยว ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไว้ที่ 50 ล้านล้านเยน (ราว 11 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2576

นอกจากนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวยังครอบคลุมการปราบปรามเว็บไซต์เผยแพร่อนิเมะและมังงะแปลภาษาต่างประเทศ แบบละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ภาษาอังกฤษและเวียดนาม “การส่งเสริมมาตรการต่อต้านเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการขยายสู่ตลาดโลก” รายงานระบุ พร้อมเตือนว่า รายได้จากการโฆษณาบางส่วนอาจถูกส่งไปให้องค์กรอาชญากรรม “จำเป็นต้องมีการดำเนินการระหว่างรัฐบาลอย่างรวดเร็ว” เพื่อจัดการกับ “วิกฤติ” ของการละเมิดลิขสิทธิ์.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES