เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้พัฒนา actai.co.th ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าแพงเกินจริง รวมกันเกือบ 10 ล้านบาท ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เขตพระนคร

นายชัชชาติ กล่าวว่า ความโปร่งใสเป็นนโยบายของ กทม. ซึ่งตาข่ายการป้องกันการทุจริตมี 4 ขั้นตอน เริ่มจากการทำข้อบัญญัติงบประมาณ ฝ่ายข้าราชการประจำ จะจัดทำโครงการเพื่อเข้าร่างข้อบัญญัติงบประมาณ มีสภากรุงเทพมหานครช่วยกันตรวจสอบ เมื่อเข้าขั้นตอนของ พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 ฝ่ายข้าราชการประจำจะดูแล ส่วนฝ่ายบริหารจะกำกับงบประมาณตามกรอบ โดยจะตั้งคณะกรรมการกำหนดการจัดทําข้อกําหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อกำหนดราคากลาง สุดท้ายเป็นกระบวนการของภาคเอกชน ที่เน้นย้ำเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งพบว่าทุกกระบวนการต้องทำกันอย่างสอดคล้อง ส่วนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ฝ่ายบริหารร่วมกับสภากรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบทุกกระบวนการอย่างเข้มข้น บางโครงการที่มีการทำเพิ่ม มีเวลาจำกัด ต้องดูให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น

ปัญหาการทุจริตยังไม่หมดไป เราพยายามเดินหน้าและปรับปรุง มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการทุจริต เมื่อทราบเรื่องได้สั่งให้ดำเนินการตรวจสอบทันที และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว เราเอาจริงเอาจัง ไม่ยอมรับต่อการทำผิด ข้อมูลที่ออกมาประชาชนรับไม่ได้ เพราะราคาเกินไป อธิบายไม่ได้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า เรื่องความไม่โปร่งใส เป็นเรื่องใหญ่ทุกองค์กร เราต้องเอาจริงเอาจังขยายผลต่อ ฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครต้องร่วมมือกันปรับปรุงให้ดีขึ้น การเสนอโครงการต้องรอบคอบ สภากรุงเทพมหานครต้องตรวจสอบให้เข้มข้น อนาคตอาจปรับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างต่อรัฐบาล

ขณะที่ นายศานนท์ กล่าวว่า กทม.มีนโยบาย Open Bangkok ประชาชนสามารถเข้ามาดูโครงการต่าง ๆ ได้ในเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร สิ่งที่เรากำลังทำคือ การทำให้ทุกโครงการสามารถตรวจสอบได้ โดยใช้ AI เข้ามาตรวจสอบ กรณีที่ผู้เสนอราคาเสนอราคาใกล้กับราคากลางมากเกินไป หรือกรณีที่มีผู้ E-Bidding น้อยกว่าปกติ ก็จะมีการเตือน

จากข้อมูลใน actai.co พบว่าโครงการดังกล่าวมีกระบวนการสอบเทียบราคา จัดทำ TOR และประมูล เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับ กทม. มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ในราคา 6 แสนกว่าบาท ก่อนที่ฝ่ายบริหารชุดปัจจุบัน จะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นราคาที่สูง ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจสอบโดย สตง.ปราศจากความสัมพันธ์จากฝ่ายบริหาร

นายชัชชาติ จึงกล่าวเสริมว่า ผิดก็คือผิด ไม่ใช่บอกว่าเคยทำมาแล้ว ทำได้ กระบวนการตรวจสอบราคากลางต้องเข้มข้นและตอบสังคมได้ ฝ่ายบริหารไม่เคยให้นโยบายกำหนดว่าจะเอาของเจ้านี้ หรือปั่นราคา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ดำเนินการอย่างโปร่งใสให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เรื่องดังกล่าวทำให้ตนเองไม่สบายใจ แม้จะไม่ได้อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ในฐานะผู้ว่าฯ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องถามว่าขบวนการเหล่านี้เล็ดลอดไปได้อย่างไร ในความไม่ดียังมีความดีอยู่ ทำให้เราเห็นปัญหา ขยายผลไปยังเชิงโครงสร้าง มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเคสนี้ เครื่องออกกำลังกายราคาแพงจริง แต่คงทำตามขั้นตอน ต้องดูว่าเอาราคากลางมาจากไหน พูดตรง ๆ ว่ายังมีเรื่องความไม่โปร่งใสอยู่ หากไม่ยอมรับปัญหาก็แก้ปัญหาไม่ได้

“ผมเองไม่กลัวเลย เพราะว่าไม่เคยสั่งให้ทำอะไรผิด ไม่เคยบอกให้ทำอะไรไม่ดี เรายินดีให้ตรวจสอบ ผมยืนแก้ผ้าให้ดูได้เลย เพราะไม่เคยกลัว ผิดก็ต้องผิด เพราะไม่เคยสั่งให้ทำผิด เราไม่กลัวที่จะไปสอบทุกคน ฝ่ายบริหารยืนยันว่าไม่เคยไปสั่งให้ทำไม่ดี เราเน้นความโปร่งใส ในฐานะผู้ว่าฯ ต้องรับผิดชอบ ถ้าบอกว่าใสสะอาดก็แปลว่าโกหก เราต้องยอมรับความจริงและปรับปรุงให้ดีขึ้น ฝ่ายบริหารต้องกลั่นกรองให้เข้มข้นขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องช่วยตรวจสอบ” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ล่าสุดโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายดังกล่าวได้รับของมาแล้ว และไม่อยากให้โทษผู้ว่าฯ คนเก่า ไม่เกี่ยวกับโครงการเก่า เป็นโครงการในสมัยนี้ ดังนั้นจึงไปโทษคนอื่นไม่ได้ ส่วนราคาเครื่องออกกำลังกายแพงหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะตนเองเป็นผู้ว่าฯ พูดไม่ได้จะเป็นการโน้มนำคนที่ตรวจสอบ เพียงแต่มีข้อสงสัย ประชาชนเกิดคำถาม เราก็ต้องตรวจสอบ จึงต้องมีการตรวจสอบและชี้แจง รวมถึงจะต้องขยายออกไปเพื่อดูโครงการอื่น ๆ ให้รอบคอบ ต้องโปร่งใสจากเนื้อใน ปัญหานี้เป็นเหมือนปัญหาข้างในห้องที่ต้องพูดถึง เพราะเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมาหลายสิบปี หากพบว่ามีการฮั้วก็มีกฎหมายที่รุนแรงอยู่แล้ว

ด้าน นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัด กทม. กล่าวถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ได้ทำตามขั้นตอน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ครบถ้วน ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e–bidding) เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว ซึ่งการกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาเอง แต่ทำตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกำหนดราคา ไปสืบราคาในท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย โดยต้องเป็นผู้ประกอบการในกิจการนั้นๆ ซึ่งคณะกรรมการได้สืบกับบริษัทที่มีกิจการขายเครื่องออกกำลังกาย เมื่อสืบราคาแล้วก็จะกำหนดราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง แล้วให้ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ เข้าสู่กระบวนการ e bidding ต่อไป โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้ประกาศ

“ผู้ประกอบการต้องเข้าสู่ระบบ e–bidding ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งแต่ละหน่วยงานไม่มีสิทธิรู้ว่ามีใครจะประมูลบ้าง เราจะทราบได้เมื่อมีผู้ชนะการประมูลแล้วว่ามีกี่เจ้ากี่ราย ราคาประมูลเท่าไหร่ ต่อมาคณะกรรมการจะประกาศผู้รับจ้างให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งถ้าไม่เกินราคากลางก็จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป” นายสมบูรณ์กล่าว

“ขอเชิญชวนให้เข้ามาประมูลกันเยอะๆ เลย กทม.ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปซื้อที่ราคาสามสี่แสน ถ้าซื้อสามหมื่นได้ก็ดี ซื้อแสนสองแสนได้ก็ยิ่งดี ถ้าเขายอมรับความเสี่ยงและเงื่อนไขตามสเปก โดยเครื่องออกกำลังกายของ สวท. 1 วัน ใช้งาน 8 ชั่วโมง ต่อเนื่อง เมื่อเกิดการชำรุด ผู้รับจ้างต้องมาเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที ถ้าเปลี่ยนแล้วยังใช้ไม่ได้ ผู้รับจ้างต้องยกเครื่องเก่าออก ตามเงื่อนไขตามสัญญา แล้วนำเครื่องใหม่มาแทน เพราะ กทม.เปิดให้บริการประชาชนทุกวันไม่มีวันหยุด เครื่องออกกำลังกายทุกชิ้นยังอยู่ ให้บริการปกติ” นายสมบูรณ์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการมีการสืบราคาอย่างไร นายสมบูรณ์ กล่าวว่า มีการสืบราคาจากบริษัทที่มีความมั่นคง มีมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการทิ้งงาน มีบริการหลังการขาย เชื่อมั่นได้ว่าสินค้าต้องมีคุณภาพ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางมีใครบ้าง นายสมบูรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางจะมีการตั้งตามโครงการแต่ละชุด ซึ่งโครงการตามที่เป็นข่าวอำนาจผู้สั่งซื้อสั่งจ้าง อยู่ในระดับผู้อำนวยการกอง ตามวงเงินที่ผู้ว่าฯ กทม.ให้อำนาจอนุมัติไว้ ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นข้าราชการภายใน หรือหน่วยงานภายนอกเพื่อพิจารณา ซึ่งผู้บังคับบัญชาไม่สามารถสั่งให้ซื้อของบริษัทที่ถูกกำหนดไว้ ยกเว้นว่าเห็นควรมีการปรับปรุงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อราชการ โดยเจตนาของกฎหมายไม่อยากให้บุคคลภายนอก ผู้บังคับบัญชา มาบงการ มาสั่งได้

“หากคณะกรรมการกำหนดราคากลางทำผิดขั้นตอน หรือมีการทุจริต ต้องมีการลงโทษอยู่แล้ว ตอนนี้ทาง สวท.ได้ชี้แจงกับ สตง. 1 โครงการแล้ว ส่วนโครงการที่เหลือจะมีการชี้แจงในเร็วๆ นี้ โดยนายชัชชาติก็ให้ทาง ศปท.กทม.ตรวจสอบอีกด้านหนึ่งด้วย” นายสมบูรณ์กล่าว

ส่วนกรณีระบบไฟฟ้าของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องออกกำลังกายภายในศูนย์กีฬาได้ นั้น นายสมบูรณ์ ยอมรับว่ามีเหตุไฟรั่วจริง แต่เครื่องออกกำลังกายยังใช้ได้ตามปกติ ยืนยันว่าอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้งานได้ตามปกติ

ด้าน นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบโครงการของ สตง. โดยระบุว่าเป็นการสุ่มตรวจ ซึ่ง กทม.ให้ข้อมูลทั้งหมด ทั้ง 9 โครงการที่มีการตรวจสอบอยู่ในส่วนของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เราพร้อมให้ความร่วมมือ ส่วนผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง โดยการป้องปรามการกระทำทุจริตได้เน้นย้ำตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม.