เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ทางการไทยที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และคณะ เดินทางไปประสานความร่วมมือกับทางการอินโดนีเซียเพื่อนำตัว นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด กลับมาดำเนินคดีที่ไทยนั้น ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดและการฉ้อโกงข้ามชาติ โดยเฉพาะจะมีข้อมูลจากหน่วยปราบปรามยาเสพติดมาเลเซีย หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดอินโดนีเซีย ที่จะเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันกับ ป.ป.ส.ประเทศไทย

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวคือ การที่ทางการอินโดนีเซียขอความร่วมมือทางการไทยผ่าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ปปส.ในการช่วยติดตาม นายเฟรดดี้ ปราตามา เป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดรายสำคัญที่มีหมายแดงจากตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล และอยู่ระหว่างหลบหนีคดี โดยนายเฟรดดี้ ถูกออกหมายจับในข้อหาลักลอบส่งผลึกเมทแอมเฟตามีน 10.2 ตัน และยาอี จำนวนกว่า 11,000 เม็ด เข้าประเทศอินโดนีเซีย ช่วงระหว่างปี 2563 – 2566 และมีการประเมินว่าเครือข่ายของเฟรดดี้ ปราตามา ขนยาเสพติดเข้าไปยังประเทศอินโดนีเซียกว่า 100-500 กิโลกรัม ในทุก ๆ เดือน โดยจะใช้วิธีการซุกซ่อนอยู่ในถุงบรรจุชา

ทั้งนี้มีรายงานว่า การส่งมอบตัวเสี่ยแป้ง จากอินโดนีเซียมายังจ.นครศรีธรรมราช ประเทศไทย ทางการอินโดนีเซีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย มายังประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือในการชี้เบาะแสติดตามตัว “เฟรดดี้ ปราตามา” พ่อค้ายาเสพติดคนสำคัญด้วย หลังมีข้อมูลว่ายังกบดานแนวชายแดนไทย-เมียนมา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากพลจัตวา มุคตี จูฮาร์ซา หัวหน้าฝ่ายปราบปรามยาเสพติด ที่ออกมายืนยันผ่านสื่อท้องถิ่นว่า ทางการไทยพร้อมที่จะดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินกับทางภรรยาของนายเฟรดดี้ด้วย

ขณะเดียวกันมีรายงานว่าก่อนหน้านี้ราวปี 2566 ทางการอินโดนีเซีย ได้เข้ามาประสานข้อมูลกับทางการไทยให้ช่วยจับกุมนายเฟรดดี้และเครือข่าย หลังพบว่าซ่อนตัวอยู่ที่ประเทศไทย โดยอาศัยอยู่กับภรรยาที่เป็นคนไทย ใช้ชื่อว่า “คาสโนว่า” กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ปัญญ์ณัฐ ภพพัชญาพันณ์ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 ตท. เป็นตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดเครือข่ายของนายเฟรดดี้

ซึ่งปฏิบัติการนี้เป็นปฎิบัติการร่วมกันของ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย INP, 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย RTP, 3.สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไทย, 4. กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดไทย, 5.ตำรวจสากลกรุงเทพฯ 6. DEA สหรัฐฯ, 7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเลเซีย RPM, 8. ศุลกากรอินโดนีเซีย โดยไทยได้จับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายนายเฟรดดี้ได้ 3 ราย ที่หลบหนีเข้าไทย และทางการมาเลเซียจับกุมผู้ต้องหา ได้ผู้ต้องหา 2 ราย ร่วมกับ ทางการอินโดนีเซีย จับกุมรวมแล้ว กว่า 40 ราย รวมถึงการขยายผลผู้ต้องสงสัยของเครือข่ายนี้ในประเทศอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างการขยายผลอื่นๆ อีก กว่า 800 ราย โดยปฏิบัติการร่วมในครั้งนั้นสามารถยึดยาเสพติดได้ถึง 20 ตันและยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องเป็นเงินกว่า 700 ล้านบาท