นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลัง เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  ว่า วานนี้ (4 มิ.ย. 67) คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการซักซ้อมการดำเนินการตามมาตรการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ได้มีการซักซ้อมในเรื่องการแจ้งเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงเกิดดินโคลนถล่มจากสถานการณ์ฝนตกหนัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปภ. สสน. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะมีการบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจากการติดตามข้อมูลค่าความชื้นในดินของ GISTDA พบว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบนฝั่งตะวันออก ใน จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.น่าน เป็นบริเวณที่มีค่าความชื้นของดินสูง ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่า ในระยะนี้จะมีฝนตกในบริเวณดังกล่าว จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มที่ต้องมีการเฝ้าระวังใกล้ชิด

“สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการคาดการณ์และประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเชิงภาพรวมในระยะยาวไปจนถึงเดือน พ.ย. 67 อย่างก็ตาม สำหรับการคาดการณ์ความเสี่ยงในการเกิดดินโคลนถล่มจากอุทกภัยจะเป็นลักษณะการคาดการณ์แบบล่วงหน้าในระยะสั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนแม่นยำว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ใด โดยจะมีการพิจารณาร่วมกับข้อมูลค่าความชื้นในดิน ไปจนถึงความสามารถในการรองรับน้ำของโครงสร้างดินในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งพื้นที่ที่มีลักษณะแบบภูเขาสูง รวมถึงมีดินอุ้มน้ำ เช่น พื้นที่ภาคเหนือ จะมีความเสี่ยงในการเกิดดินโคลนถล่มได้ง่าย อีกทั้งปัจจุบันโครงสร้างอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สูงเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักมาก เมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักจะทำให้น้ำหนักกดลงบนดินมากและอาจจะเกิดการพังทลายได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงระมัดระวังหรืออพยพหากมีความจำเป็น ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูงและดินไม่อุ้มน้ำ จะทำให้สามารถระบายน้ำได้ค่อนข้างดี มีความเสี่ยงในการเกิดดินโคลนถล่มได้น้อยกว่า ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง เช่น จ.อุบลราชธานี ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลของ จ.อุบลราชธานี ในการเปิด-ปิดประตูเขื่อนปากมูล โดยใช้ข้อมูลทั้งลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีมาประกอบการพิจารณา และจะมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ทั้งนี้ การบริหารจัดการจะเป็นไปตามกลไกของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561”

สำหรับประชาชนที่มีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์อุทกภัยหนักเช่นเดียวกับปี 54 อยากขอให้คลายความกังวลใจดังกล่าว เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ของปี 67 มีความแตกต่างกับปี 54 อย่างมาก เช่น จำนวนพายุที่คาดการณ์ว่าจะเข้าประเทศไทย ปริมาณฝนะสม ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ และแม้ว่าปีนี้คาดว่าประเทศไทยจะเกิดสภาวะลานีญา แต่เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ติดกับทะเลจึงมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลต่อปริมาณฝนตก เช่น พายุจร ร่องความกดอากาศ หย่อมความกดอากาศต่ำ ไม่ได้มีเพียงอิทธิพลจากสภาวะลานีญาเท่านั้น นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีการเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันมีการปรับการบริหารจัดการน้ำแบบรายเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อหารือการดำเนินงานของทุกหน่วยงานและบูรณาการข้อมูลให้มีความเป็นเอกภาพสูงสุด สำหรับอ่างฯ ที่มีความเสี่ยงเกิดน้ำล้นต่าง ๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนบางลาง เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว เป็นต้น ได้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีการระบายน้ำจากอ่างฯ ต่าง ๆ เพื่อให้มีช่องว่างในการกักเก็บน้ำในช่วงฝนตกหนักได้และช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ

 นอกจากนี้ จะมีการประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ คลองธรรมชาติ และพิจารณาเร่งระบายน้ำเพื่อให้มีช่องว่างรองรับน้ำสัมพันธ์กับปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกในอนาคตด้วย พร้อมกันนี้ ได้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความสามารถในการระบายน้ำได้ไม่สูงนัก เช่น กรุงเทพมหานคร หรือพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ในปีนี้จะเกิดเหตุการณ์อุทกภัยหนักซ้ำรอยปี 54