เดินหน้าค่อยเป็นค่อยไปผ่านกลไกของรัฐสภาที่ได้จัดตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ พรรคก้าวไกล ชงเข้มให้ขยายวงครอบคลุมถึงคดีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะถือเป็นคดีทางการเมืองเช่นกัน

และแล้วเกิดเหตุการณ์ที่ อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558

จึงทำให้ พรรคเพื่อไทย ถูกจับจ้องจากสังคมว่าอาจถึงคราวต้องเปลี่ยนท่าทีจากเดิมที่เคยอึกอักเรื่องการล้างความผิด “คดีมาตรา 112 ให้กลายมาร่วมสนับสนุน ซึ่งเห็นได้จากสมาชิกพรรคฯ บางส่วนที่เริ่มเผยนัยดังกล่าว

อย่างเช่น “สมคิด เชื้อคง” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตสส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยบอกว่าไม่เอามาตรา 112 ถ้าผลออกมาว่านิรโทษกรรมมาตรา 112 ได้ และกมธ.ไม่ระบุว่าใครที่จะออกมา นายทักษิณ หรือนาย ก. ต้องเข้ามาหมด เพราะเราไม่ได้เลือกคน แต่เป็นความบังเอิญ

หากเรื่องนี้กลายเป็นจริง 2 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” คงจะผนึกกำลังผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมล้างคดีความสมประโยชน์ทุกฝ่ายได้แน่นอน

แต่ทว่ามันอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นก้าวแรกๆที่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง แต่ถ้าเอาคดีของ “ทักษิณ” ผูกโยงด้วย จะทำให้เรื่องนิรโทษกรรมมีความยาก เกิดอุปสรรคมากขึ้น และสุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกโยงว่าเป็นการทำเพื่อมุ่งช่วย “ทักษิณ”

นอกจากนี้ยังมีหลายๆ ฝ่ายที่ยังค้างคาใจต่ออดีตนายกฯ ผู้นี้ที่แม้กลับมาตุภูมิและเข้ารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล แต่เจ้าตัวยังไม่ได้นอนในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เพราะใช้อาศัยเงื่อนไขเรื่องอายุความชรา และข้ออ้างถึงอาการเจ็บป่วย ขอนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ไร้ติดกำไลอีเอ็ม จนถูกขนานนามว่าเป็น “นักโทษเทวดา  

ประกอบกับเสียงวิจารณ์ต่อข่าวคราวความพยายามจะพา อดีตนายกฯ หญิง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวของ “ทักษิณ” ที่ยังหนีโทษของคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว กลับสู่ประเทศไทยแบบผุดผ่อง

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” และ พรรคเพื่อไทย คงต้องคิดหนักให้รอบด้านก่อนเดินหมากเรื่องนิรโทษกรรม เพราะหากดำเนินต่อไปด้วยข้ออ้างที่อยากเหมาให้ตัวเองได้รับประโยชน์ และทุกขั้วทุกกลุ่มก็เจ๊ากันไป อาจเป็นแรงจูงใจให้มวลชนอีกฟากฝั่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

อาจลุกลามทำให้ประเทศไทยติดหล่มวังวนความขัดแย้งทางการเมืองไม่รู้จบ.