เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 5 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ว่าปัญหาการเมืองมีอะไรน่าห่วงหรือไม่ในช่วงนี้โดยนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง ตอนนี้เรื่องของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ทีมงานกำลังเตรียมตัวอยู่โดยสภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาในวันที่ 19 -21 มิ.ย.นี้

เมื่อถามถึงกรณีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ขอให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยสนับสนุนนายกฯ ภายหลังไม่พอใจที่เชิญนายวิษณุเครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ มาช่วยงาน นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ได้ยินมา ติดตามจากสื่อ ซึ่งตนไม่ได้หนีที่จะเข้าร่วมประชุมพรรคแต่อย่างใด ถ้าว่างตนก็จะเข้าตลอด ตอนนี้ความจริงสภาผู้แทนราษฎรก็ปิดสมัยประชุมอยู่  ก็ยังไม่มีเรื่องอะไร แต่ถ้าสภาเปิดแล้ว ตนคงจะเข้าไปอยู่ที่สภาในวันพฤหัสบดีเหมือนเดิม แต่ถ้าว่างก็จะเข้าไปประชุมพรรคเพื่อไทยในวันอังคาร  จะได้มีเวลาพบปะกับสส. ส่วนเรื่องที่น.ส.แพทองธาร ตนก็ได้ยินตามข่าวที่ออกมาก็เป็นธรรมดา  ก็มีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ แต่ตนเชื่อว่าคำอธิบายนั้นชัดเจน 

เมื่อถามว่าถ้านายกฯ เข้าไปพูดด้วยตัวเองจะทำให้สมาชิกมีความสบายใจมากขึ้นหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า  ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ถ้าว่างหรือมีเวลาก็จะเข้าไป และถ้าถามก็จะชี้แจงต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องอธิบายต่อไป

เมื่อถามต่อว่าถ้าไม่ชี้แจงจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างสมาชิกพรรคเพื่อไทยกับนายกฯ ต่อไปเรื่อยฯหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า  คิดว่าไม่ เพราะเวลาลงพื้นที่ตนก็ลงพื้นที่เยอะ ส่วนไหนที่พูดกันรู้เรื่องแล้ว ตนก็คิดว่าทุกคนก็รู้เรื่อง แต่การที่เราอยู่ร่วมกัน ก็คงไม่ได้สบายใจด้วยกันทุกเรื่องเสมอไป แต่ถ้าเรื่องที่สบายใจ 80 ไม่สบายใจ 20 เราก็ต้องพยายามทำในส่วนของ 20 เพื่อให้ลดลงไปเหลือ 19 หรือ 18 ไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของตนอยู่แล้วที่จะต้องพยายามทำต่อไป เพื่อให้ความกระจ่างกับคนที่ทำงานด้วยกัน หรือในการลงพื้นที่ หรือทีมงานที่เข้ามาพูดคุยมาแนะนำปัญหาของประชาชนตนก็รับฟังตลอด โดยผ่านทีมทำงานของตนหรือไม่ตนก็รับฟังเอง

เมื่อถามอีกว่าในอนาคตมีโอกาสที่นายกฯจะมีการพูดคุยกับสมาชิกเป็นกลุ่มภาคเพื่อทำความเข้าใจ หรือไม่   นายเศรษฐา กล่าวว่า ทำอยู่แล้ว  แต่ไม่ได้บอกกับสื่อ ในแง่ของการนำเรื่องนโยบายต่างๆมาทำและถ้าสส.คนไหน ภาคไหนหรือแม้แต่พรรคไหนที่มีผลกระทบทั้งในเชิงบวกหรือเชิงลบ ตนก็พร้อมรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับนโยบายให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เพราะสส. คือตัวแทนของประชาชน.