เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายดิเรก คชารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 นายจิรภัทร อินทร์สุข นายด่านปศุสัตว์แหลมฉบัง นายเจณรงค์ วรรณอุบล นายด่านประมงแหลมฉบัง นายวันชัย อัศวพันธุ์นิมิต นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เป็นสุกรแช่แข็งไม่มีใบอนุญาตนำเข้าเพิ่มเติม จำนวน 17 ตู้ ก่อนส่งกรมปศุสัตว์ทำลาย

นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่มีตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งศุลกากรได้มีการตรวจยึดไว้ 161 ตู้ และได้ส่งให้ DSI ดำเนินคดีตามนโยบายของกรมศุลกากรเนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าสุกรแช่แข็ง ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เพื่อทำการขยายผลการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ส่วน 17 ตู้ หลังที่จะตรวจในวันนี้ เป็นตู้ที่นำเข้ามาหลังจากที่มีการตรวจยึดไปแล้ว ซึ่งมีรูปแบบการนำเข้าหลายลักษณะ บางรายที่มีใบอนุญาตก็มี และไม่มีใบอนุญาตแต่อยู่ในเกณฑ์ที่กรมไม่รับของ บางรายมีสถานสถานทูตยืนยันมารับรอง แต่จำเป็นต้องส่ง DSI สอบสวนชี้แจงต่อไป วันนี้จะมีการตรวจที่ท่าเทียบเรือ D1 จำนวน 9 ตู้ ท่า A0 4 ตู้ ท่า B4 1 ตู้ และท่าเรือ เคอรี่สยามซีพอร์ท อีก 3 ตู้ ซึ่งสินค้านั้นมีบางส่วนไม่มีการยื่นใบขน บางส่วนมีการยื่นใบขนแต่ไม่มีใบอนุญาต และเป็นสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 แต่ไม่มีการนำออกไปภายใน 30 วัน ซึ่งตามกฏหมายจะตกเป็นของแผ่นดิน โดยกรมศุลกากรมีนโยบายให้ดำเนินคดีหมด และสินค้าทั้งหมดเป็นตู้เย็นจะมีภาระค่าไฟสูงสร้างความเดือนร้อนให้ผู้ประกอบการท่า โดยเฉลี่ยต่อตู้วันละ 1,500 บาท ที่ผ่านมาจ่ายไป หลายสิบล้านบาท จึงไปแจ้งให้ DSI รีบมาตรวจสอบ จะได้ส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ไปดำเนินการต่อ

พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ได้รับการประสานจากกรมศุลว่ามีตู้คางอีก 16 ตู้ และมีล่าสุดเพิ่มมาอีก 1 ตู้ รวม 17 ตู้ ที่มีทั้งปลาและหมูซุกซ่อนอยู่ ในกลุ่มหลังนี้ มี 3 บริษัท ที่ DSI ได้ดำเนินคดีไปแล้ว เหลืออีก 7 บริษัท ที่ยังไม่เคยดำเนินคดีเลย ในกลุ่ม 161 ตู้ DSI ได้สอบสวนแยกสำนวน 7 สำนวน ส่งไปที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปที่ ปปช. ทั้งหมด 6 คดี จะส่งได้ทั้งหมดยังคงเหลืออีก 4 คดี จะเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ นอกจากนั้นยังมีที่รับเพิ่มอีก 2 คดี เป็นคดีที่มีการตรวจปล่อยนำตู้สินค้าออกไปแล้ว 2,388 ตู้ อยู่ระหว่างการสอบสวน น่าเชื่อได้ว่ามีการสำแดงเท็จเข้ามา จึงได้ทำความร่วมมือระหว่างประเทศโดยมีอัยการสูงสุดเป็นเจ้าภาพ โดย DSI รวบรวมหลักฐาน โดยต้องเดินทางไป 7 ประเทศหาข้อมูล โดยเริ่มในสัปดาห์หน้าเข้าพบที่สถานทูตบราซิลเพื่อประสานงานไปที่หน่วยงานที่ออกเอกสาร ที่มีการปลอมเอกสารใบรับรองสุขอนามัย หรือ Health Certificate ที่แจ้งเป็นปลา กุ้ง ไข่ปลา จำนวนมาก แต่สินค้าเป็นชิ้นส่วนสุกร ทั้งตับ และใส้ โดยตู้มีการนำฝากไว้ที่ห้องเย็นใน จ.นครปฐม สมุทรสาคร สิ่งที่ DSI ที่มาดูในวันนี้สิ่งต้องการมากคือ กล่อง ภาชนะที่นำเข้ามาเป็นอย่างไร มีรหัสการส่งออกเป็นแบบใด มาประกอบขยายผลกับสินค้าที่นำเข้ามาแล้ว ว่าจะเหมือนกันหรือไม่ และสิ่งที่เห็นในวันนี้ สินค้าผ่านแดนไปประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีการลักลอบนำกลับเข้ามาประเทศไทยด้วยระบบกองทัพมด ค่อยๆ ทยอย เอากลับเข้ามาในช่วงที่สินค้าขาดแคลน ซึ่งในหลายส่วนนี้ข้อมูลยังไม่สารมารถเปิดเผยได้เพราะเป็นความลับทางคดี ตู้สินค้าแช่เย็นที่เข้ามาทุกตู้ DSI ตรวจสอบทุกตู้ พบว่าเอกสารที่มีการปลอมเข้ามา จะเกิดในช่วงปี 2564-2565 หลังจากที่เดินทางไปตรวจสอบเอกสารพยานหลักฐานที่ต่างประเทศ สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ จะดำเนินคดีกับข้าราชการทุกคน ทุกหน่วย ทุกบริษัทฯ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดทั้งหมด

นายวันชัย อัศวพันธุ์นิมิต นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ผู้เลี้ยงสุกรกังวล คือ เมื่อมีการจับกุมและขยายผลไปแล้ว ไปพบหมูไปอยู่ที่เขตปลอดอากร การขยายผลและเอกสารในส่วนของลูกค้ามีมากถึง 100 ราย มีปริมาณการซื้อขายย้อนหลัง 2-3 ปี เป็นหมื่นล้านบาท และมีอยู่รายเดียวซื้อถึง 6,000 ล้านบาท สินค้าพวกนี้เป็นสินค้าราคาถูก เมื่อเข้ามาก็จะอิงราคาตลาด ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรขาดทุน กลุ่มพวกนี้คือพวกที่ร่วมกระทำความผิด ทำให้อุตสาหกรรมสุกรเสียหาย และยังไม่มีการขยายผลว่ากลุ่มพวกนี้คือใครบ้าง ในแง่ของเขตปลอดอากร ซึ่งอนุมัติโดยอธิบดีกรมศุลกากร แต่มีบางเขตปลอดอากร ที่เอาไปเล่นแร่แปรธาตุ แทนที่จะเอามาปรับปรุงมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้วส่งออกไปประเทศที่ 3 แต่กลับกลายมาซุกสินค้าจำพวกตีนไก่ เนื้อสุกร ออกไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วแอบกลับมาตามห้องเย็น อยากให้ DSI ไปขยายผลว่าห้องเย็นเหล่านี้มีที่ไหนบ้าง ซึ่งคนพวกนี้เป็นเครือข่ายของผู้ร่วมกระทำความผิด ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันนี้ยังคงดำเนินการอยู่ น่าจะมีวิธีปฏิบัติการใช้เขตปลอดอากรมาเพื่อประกอบธุรกิจให้ตรงวัตถุประสงค์ ไม่ใช่เปิดมาเพื่อซุกของผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกลัวมาก มีความรู้สึกว่าช่วงนี้ยังมีหมูเถื่อนทะลักเข้ามา กดดันราคา.