จากกรณีข่าวทำสะเทือนวงการรับจ้างที่มีหนุ่มวัย 30 ปี ยอมทิ้งงานในกรุงเทพมหานคร หันหลังกลับคืนถิ่นบ้านเกิด โดยสร้างป่าเลียนแบบธรรมชาติเพาะ “เห็ดระโงก” พร้อมเก็บขายกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ซึ่งทำยอดขายพุ่งหลักแสนบาทต่อเดือนตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ซึ่งประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่ฮือฮาล้นหลาม โดยชาวเน็ตพากันถกถามถึงลักษณะของเห็ด รวมถึงวิธีสังเกตแบบไหนไม่มีพิษ เพราะหน้าตาของเห็ดที่เป็นประเด็นคล้ายกับเห็ดป่าที่มีพิษรุนแรง

โดยทางด้าน เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้ความเห็นเชิงวิชาการว่า

ซึ่ง “เห็ดระโงก Amanita princeps” นั้นเป็นหนึ่งในเห็ดป่า ที่ประชาชนนิยมเก็บจากในธรรมชาติมากิน ซึ่งเห็ดป่านั้น มีทั้งเห็ดที่กินได้ และเห็ดพิษกินไม่ได้ และมีลักษณะใกล้เคียงกัน อาจเกิดความเข้าใจผิด

โดยเห็ดที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือ “เห็ดระโงกพิษ Amanita exitialis” หรือบางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน, เห็ดระงาก หรือ เห็ดไข่ตายซาก มีความคล้ายคลึงกับ เห็ดระโงกขาว หรือ เห็ดไข่ห่าน ที่สามารถกินได้ แต่เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง มีกลิ่นเอียน และค่อนข้างแรง เห็ดพิษชนิดนี้ มีสารพิษที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกดีแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ เมื่อกินเข้าไปแล้ว จะเกิดอาการตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันต่ำ บวมน้ำ อ่อนเพลีย ตับและไตจะวาย และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

หากสังเกตเบื้องต้นจะพบว่า เห็ดระโงกพิษ มีหมวกขาวล้วน ทั้งแก่และอ่อน มีปุยเล็กน้อย ไม่เรียบมัน ก้านกลวงบ้าง ตันบ้าง
ส่วน เห็ดระโงกขาว กลางหมวกมีสีเหลืองเล็กน้อยตอนอ่อน ตอนแก่มีสีเหลืองมากขึ้น หมวกเรียบมัน ไม่มีปุย ก้านตัน หากแต่ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคเห็ดระโงกขาวในช่วงดอกเห็ดบานแล้ว แต่จะนิยมเก็บช่วงเห็ดอ่อน ซึ่งมีลักษณะดอกเห็ดตูมคล้ายไข่ กลมรี ยากต่อการจำแนก

จากงานวิจัยพบวิธีจำแนกเบื้องต้นว่า หากจะเก็บเห็ดระโงกช่วงเห็ดอ่อน ต้องนำมาผ่าเพื่อดูชั้นผิวด้านใน ถ้าผ่าเห็ดตูมแล้วเห็น “สีเหลือง” อยู่ที่เปลือกชั้นที่ 2 จากด้านบนคือ “เห็ดระโงกขาวกินได้”

แต่หากผ่าแล้วเห็นเป็น “สีขาวล้วน” คือ “เห็ดระโงกพิษ” แน่นอน ฉะนั้นต้องผ่าเห็ดทุกครั้งก่อนเก็บหรือต้ม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็น “ดอกอ่อน” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากจะไม่สามารถทราบได้เลยว่า เป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอก จะเหมือนกัน เมื่อกินเห็ดพิษเข้าไปแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องหรือถ่ายอุจจาระเหลว เบื้องต้นให้ผู้ป่วยล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว เพื่อให้อาเจียนเอาเศษอาหารออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที แล้วรีบแจ้งประวัติการกินเห็ดพร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ ที่สำคัญ ห้ามกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์