เสียงนั้นไม่ได้บอกเรื่องรถติด แต่พูดถึง “การเข้าไปมีส่วนร่วม” ลือกันว่า ถ้าเอกชนเจ้าไหนที่อยากโปรโมตตัวเองแล้วไม่ได้จ่ายสปอนเซอร์นี่ไม่ให้เข้าขบวน แล้วก็ลามไปถึงเรื่องที่ว่า สังคม ภาคเอกชน มีมายาคติมองกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นแค่ผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์ จึงมีแพ็กเกจมาขายกลุ่ม LGBT+ รัวๆ ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

แต่ปัญหาคือ ตัวองค์กรเอกชนไม่ได้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง ตั้งแต่นโยบายภายในที่กีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ การผลิตสินค้าหรือบริการอะไรที่ไม่มีความสม่ำเสมอในการแสดงท่าทีถึงความเป็นมิตรของกลุ่มหลากหลายทางเพศ พอมาเดือนไพรด์จะมาสนับสนุน พวกนี้เขาเรียก rainbow washing

นั่นก็คือ การฉาบสีรุ้งในช่วงที่หาผลประโยชน์จากกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ แต่หลังจากนั้นก็เฉยๆ ไปถึงเมินหรือรังเกียจ ซึ่งหลังๆ มีกระแสเรื่อง inclusive workplace หรือสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับทุกอัตลักษณ์เข้ามาเรียกร้องสิทธิ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อ 10 ก็มุ่งเน้นเรื่องความเท่าเทียม ขจัดความเหลื่อมล้ำ เหล่านี้ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น

ในยุคเสรีนิยมปัจจุบัน เรื่องรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เรื่องปกปิด กระทั่งกลุ่มที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT+ รณรงค์ เป็นกลุ่มเพศสภาพตรงเพศกำเนิด (cisgender) ก็ได้ เขาก็เรียกว่าเป็น LGBT+ ally  ..แต่ก็มีคำถามว่า พรรคการเมืองนี่ เป็นอะไรระหว่างพวก “ฉาบสีรุ้ง”หวังคะแนนเสียงจาก LGBT+ หรือเป็นกลุ่มสนับสนุน LGBT+ จริงๆ

เขาก็ว่าเขาพิสูจน์ตัวเองจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้ว แต่จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBT+ อีก คือ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.คำนำหน้านาม กล่าวคือ “กลุ่มข้ามเพศสามารถใช้คำนำหน้านามตามเพศใหม่ และใช้สิทธิทางกฎหมายในเพศใหม่ได้” ให้เห็นภาพคือ สมมุติว่า จดข้ามเพศจากนายเป็น น.ส.ตอน18 ก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

ประเด็นนี้ก็มีการถกเถียงกันเยอะ ตั้งแต่เรื่องจะข้ามเพศต้องแปลงเพศหรือไม่ การเก็บประวัติเดิมใครควรเป็นผู้เก็บและหากจะเปิดต้องใช้คำสั่งศาลหรือไม่ อีกทั้งเรายังได้เห็นการวิจารณ์จากผู้ชายว่า “กลัวกะเทยหลอกแต่งงาน” และยังมีเรื่องของเด็กเพศกำกวม (intersex) คือเกิดมามีสองอวัยวะเพศ ต้องให้เด็กมีสำนึกรู้ทางเพศก่อนจึงให้เลือกเพศเองไม่ใช่พ่อแม่เลือก

บางคนมองว่า ไพรด์ ขยับขยายไปมากกว่าการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศแล้ว แต่เป็นพื้นที่ในการแสดงออกของกลุ่มอัตลักษณ์ชายขอบไปยังสังคมด้วย เช่น คนพิการ กลุ่มผู้ค้าประเวณี กลุ่มต่างด้าว กลุ่มผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้อยู่ระหว่างการบำบัดยาเสพติด ดังนั้น ต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการเลือกปฏิบัติจากเหตุแห่งอัตลักษณ์

ทั้งนายเศรษฐา ทั้ง น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ในงานไพรด์ ในเชิงมีแนวคิดจะผลักดันยกเลิกการที่ผู้ค้าประเวณีมีความผิด ซึ่งก็ต้องมาดูรายละเอียดว่า การค้าประเวณีควรจะต้องจดแจ้งเป็นความลับกับบางหน่วยงานหรือไม่ เพื่อการตามตัวมาติดตามผลตรวจสุขภาพ หรือเพียงแค่ว่า “ขายแล้วตำรวจไม่จับ” ก็พอ สุขภาพรับผิดชอบกันเอง

ในเดือน มิ.ย.เราก็จะเห็นกระแสมาเรื่อยๆ และเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยพยายามแข่งกับพรรคก้าวไกลในด้านความเป็นเสรีนิยม ด้วยกระแสอาจทำให้กฎหมายบางฉบับผ่าน แต่เมื่อบังคับใช้ได้ระดับหนึ่งต้องรีวิวใหม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแก้กลับเป็นแบบเดิม ซึ่ง LGBT+ เขาก็ไม่อยากให้เหมือนกฎหมายกัญชา รัฐบาลนี้รับรอง รัฐบาลหน้าจะคว่ำซะงั้น

ที่น่าสนใจคือบทพิสูจน์ตัวเองของนักการเมือง จะทำตัวแค่ฉาบสีรุ้ง หรือสนับสนุนสิทธิจริงๆ.