จากกรณี ลุงบุญส่ง สนเสริม อายุ 86 ปี อยู่บ้านเลขที่ 141 หมู่ 16 ต.นาบ่อคำ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร หนึ่งในผู้ร่วมโครงการปลูกป่าของกรมป่าไม้มา 30 กว่าปีแล้วยังไม่สามารถตัดได้ จนปัจจุบันมีความเดือดร้อนทั้งบ้านที่พักอาศัยก็จะพัง แถมยังต้องเลี้ยงดูลูกชายที่พิการเดินไม่ได้ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ตาวัย 86 ชีวิตสิ้นหวัง ร่วมปลูกป่าโครงการรัฐ แต่ตัดไม้ไม่ได้ 30 ปีหมดตัวแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 161 หมู่ 4 บ้านปางลับแล ต.สักงาม อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นบ้านของนายอุ่น และนางสวัสดิ์ จะนุช อีกครอบครัวหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่า แต่ปัจจุบันทั้งสองได้เสียชีวิตลงแล้ว คงเหลือแต่บ้านร้างที่ปล่อยทิ้งไว้กับสวนไม้สักที่มีลำต้นขนาดคนโอบยืนต้นอยู่ในแปลงที่ปลูกอีก 3 แปลง พื้นที่รวม 100 กว่าไร่

สอบถามนางวิมล จะนุช อายุ 57 ปี บุตรสาว นายอุ่น และนางสวัสดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ตนได้เดินทางมาอยู่กับลูกสาวที่ จ.ชลบุรี เนื่องจากตัวเองป่วยเป็นมะเร็งเข้าปีที่ 3 บ้านที่เคยอาศัยอยู่กับพ่อแม่ก็ต้องปล่อยให้รกร้าง เพราะบริเวณดังกล่าวไม่มีพื้นที่ที่จะให้ตนทำมาหากินได้ เหมือนกับคนอื่นที่สามารถปลูกอ้อย มันสำปะหลัง หรือพืชไร่อื่นๆ พอเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว และที่สำคัญพื้นที่ที่มีอยู่พ่อและแม่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าและไม่สามารถตัดได้จนถึงขณะนี้ สงสารพ่อและแม่ที่รอความหวังและต่อสู้มาโดยตลอด โดยเฉพาะพ่อที่เสียชีวิตด้วยเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ส่วนแม่สวัสดิ์ ก็ได้เสียชีวิตตามไปเมื่อปีที่แล้ว

นางวิมล กล่าวต่อว่า ครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าเห็นว่า เป็นโครงการของภาครัฐสมัยนั้น ก็ดีใจว่าอนาคตคงจะมีรายได้จากการขายหรือใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูก แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกประกาศยกเลิกตามที่ตกเป็นข่าว จึงทำให้ครอบครัวของตน รวมไปถึงของชาวบ้านทั้ง อ.คลองลาน อ.เมืองกำแพงเพชร อ.ปางศิลาทอง และใกล้เคียงจำนวนไม่น้อย ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม วันนี้เริ่มเห็นข่าวของลุงบุญส่ง ก็นึกสงสาร รวมทั้งครอบครัวตนเอง และอีกหลายๆ คนที่ต่างรอความหวังไม่แตกต่างกัน

“เชื่อว่าทุกคนอยากจะให้ตัดต้นสักได้ เพราะประการแรก คือ จะมีรายได้จากการปลูกที่รอมา 30 กว่าปี ประการต่อมา คือ จะได้มีพื้นที่ทำกินเพื่อหารายได้ปลูกถั่ว ปลูกมัน และไม่ต้องลำบากที่จะต้องออกมารับจ้างทำงานนอกพื้นที่ที่เคยอาศัยมาแต่ครั้งรุ่นพ่อแม่ น้องชายของตน คือ นายมงคล จะนุช ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รับมรดกป่าที่ปลูกมาจากพ่อ แต่ก็ต้องออกมารับจ้างขับรถ เพื่อหาเงินเลี้ยงลูกที่กำลังเรียน บางวันมีงานบางวันไม่มีงานก็ไม่มีรายได้เช่นกัน จึงอยากให้ทางการได้ลงมาดูแลให้ความช่วยเหลืออย่าเงียบหายไปเหมือนอย่างที่ผ่านมา” นางวิมล กล่าว.