ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นจัดงาน Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 เดินหน้าสนับสนุนความยั่งยืนตามแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง ESG ให้กับลูกค้าธุรกิจและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งงานในครั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ คณะผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG จากธนาคารโลก (World Bank) MUFG และกรุงศรี มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งต่อแนวคิดตลอดจนโซลูชันที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจในการทำแผนเปลี่ยนผ่าน โดย

“เคนอิจิ ยามาโตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่สี่ (2567-2569) กรุงศรี ตั้งใจอย่างแน่วแน่สู่การเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” โดยเราได้นำกรอบแนวความคิด ESG มาปรับใช้ทั้งการดำเนินธุรกิจ สนับสนุนลูกค้าธุรกิจให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานด้าน ESG อย่างแท้จริงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และตั้งเป้าให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน 100,000 ล้านบาท (จากปีฐาน 2564) ภายในปี 2573 ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและพันธกิจของ MUFG ในการสร้างอนาคตที่สดใส โดยขณะนี้ใช้เงินไปแล้ว 7.1 หมื่นล้านบาท

“ประกอบ เพียรเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่า กรุงศรีมีความต่างจากธนาคารอื่นเป็นจุดที่ช่วยลูกค้าเข้าถึงเพราะกรุงศรีมี MUFG ได้มีการพูดคุยกันตลอดเวลา ปัจจุบันความรู้ในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งที่ต้องทำจึงต้องเรียนรู้เพื่อจะปรับธุรกิจตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนทุกคนต้องไปด้วยกัน ซึ่งมีลูกค้าต่างชาตินำเรื่องการเงินสีเขียวมาใช้ดังนั้นเราจึงต้องการทีมในการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน

“ไพโรจน์ ชื่นครุฑ” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่า การเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนของแบงก์ กำหนดไว้ว่าในปี 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารโดยเปลี่ยนมาใช้โซลาร์รูฟ ใช้เทคโนโลยีกับเครื่องปรับอากาศ และสนับสนุนเรื่องการใช้รถอีวี โดยทำงานร่วมกับพนักงาน 2 หมื่นคนเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในองค์กร ทั้งการนำขยะมาเป็นปุ๋ย มีกิจกรรมปลูกป่า ทำฝายชะลอนํ้า เพื่อช่วยเรื่องคาร์บอนเครดิต ตั้งเป้าว่าในปี 2593 จะลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมทางเงินของกรุงศรี ทั้งนี้ MUFG จะเข้าไปช่วยสนับสนุนคู่ค้าในการให้บริการทางเงิน ขณะเดียวกันแบงก์กรุงศรีจะช่วยลูกค้าเรื่องการวิเคราะห์การปล่อยคาร์บอน การทำคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เป็นวันสต๊อปช็อปในการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน

“ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่าได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้แนวทาง ESG มาตลอดไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ ให้รางวัล แต่ยอมรับความตระหนักรู้ยังไม่ทั่วถึง ในปีที่ผ่านมากรุงศรีเอสเอ็มอีได้ทำวิจัยกับเอสเอ็มอีจำนวน 700 รายมีตัวเลขเพียง 30% ที่เห็นความสำคัญของESG ขณะที่ 14% บอกว่าธุรกิจพร้อมแล้วจะทำ ในฐานะที่แบงก์กรุงศรีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงแบ่งการทำงานเป็น 2 มิติ มิติแรกสนับสนุนการเงินสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีเพื่อปรับการทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มิติที่ 2 ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง.