เพราะ “สนั่น” มักบอกอยู่เสมอ เราต้องให้กำลังใจรัฐบาล เพื่อให้เขาเดินหน้าทำงานได้ แต่ถ้าเรื่องไหนเราไม่เห็นด้วย เราก็เสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ไปเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะไม่เช่นนั้น ถ้ารัฐบาลไปไม่ได้ ทุกฝ่ายก็ได้รับผลกระทบหมด นั่นคือ สิ่งที่ “สนั่น” ทำมาโดยตลอด ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับ “พจน์ อร่ามวัฒนานนท์” รองประธานกรรมการ คนที่ 1 ที่ถูกวางตัวให้เป็นประธานกรรมการ คนที่ 26 ต่อไปในต้นปี 68

 ตั้งแต่ “สนั่น” มารับตำแหน่ง ได้ประกาศนโยบาย Connect the Dots ตั้งแต่วันแรก เป็นการเชื่อมโยงทุกเครือข่าย ดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ในประเทศ ยังรวมถึงต่างประเทศ รวมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนด้วย “สนั่น” เล่าให้ฟังว่า ตลอด 3 ปีของการรับตำแหน่ง เศรษฐกิจไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประเด็นอย่างมาก หนึ่งในประเด็นที่หอการค้าให้ความสำคัญ คือ เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change Challenge ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน หากไทยปรับตัวช้า ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ

“สนั่น” ระบุว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เดิมเราเคยพูดถึงภาวะโลกร้อน วันนี้กลายเป็นพูดถึงโลกเดือด หลายประเทศเผชิญสภาพอากาศแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่ไทยประสบปัญหาเอลนีโญรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงอย่างที่เห็นได้ชัดทั้งปัญหานํ้าท่วม-นํ้าแล้งที่เป็นปัญหารื้อรังของภาคเกษตรและกระทบเศรษฐกิจปีละหลายหมื่นล้านบาท ล่าสุดปัญหาฝุ่นควันพีเอ็ม 2.5 กลับมาเกิดขึ้นและกินเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน ซึ่งยังหาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมชัดเจนไม่ได้ และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงแน่นอน

บทบาทหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาคธุรกิจที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองความต้องการและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทรนด์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมดูเหมือนว่าจะกลายเป็นโจทย์ที่เข้ามามีส่วนกำหนดเกมการค้าของโลกยุคใหม่ที่ใครเริ่มก่อนไม่ใช่เพียงผู้ชนะแต่จะเป็นผู้คุมกระดานทิศทางการค้าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ

“เราเห็นได้ชัดจาก Non-tariff Barriers Non-tariff Measures แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กว่าไทยจะเริ่มปรับตัวจริงจังก็เพียงไม่นาน
มานี้ และต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากนัก”

ทั้งนี้บริษัทสมาชิกขนาดใหญ่ของหอการค้าไทย ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ได้นำเอาโมเดล BCG และ ESG มาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของการดำเนินธุรกิจ มากไปกว่านั้นหอการค้าฯ ได้ขอให้หลายบริษัทสมาชิกนำร่องถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมไปยังบริษัทคู่ค้าที่อยู่ในซัพพลาย เชน ให้ทยอยปรับตัว เข้าสู่มาตรฐานที่เป็นสากลเพื่อ
ให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีสากลได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนสื่อสารประเด็น Sustainability ให้ผู้ประกอบการในประเทศเกิดความตื่นตัวและเร่งปรับธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางใหม่ซึ่งการค้าโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผ่านหลากหลายโครงการและกิจกรรมต้นแบบ เช่น

ด้านเกษตรและอาหาร หอการค้าฯ ได้มีการรวบรวมและจัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอาหารแห่งอนาคต เป็นเครือข่ายผู้ประกอบการด้านอาหารที่กำลังเป็นเอส-เคิร์พ ให้ของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารไทย การขับเคลื่อนโครงการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่ปลอดภัยสู่ชุมชนขาดแคลนอาหารกว่า 1.4 ล้านมื้อ การส่งเสริมภาคปศุสัตว์นำร่องการเลี้ยงโคเนื้อด้วยแนวทาง BCG ในพื้นที่ภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ

นอกจากนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดตั้งสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อเป็นสถาบันวิชาการของผู้ประกอบการสร้างเสริมองค์ความรู้ เผยแพร่แนวคิดและพัฒนาเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย มาตรการทางกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

“คาดว่าภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Climate Change คือ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร จากทั้งปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศ และจากโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการเกษตร และการท่องเที่ยวที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเสี่ยงในด้านภัยแล้ง เรื่องนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนปรับตัวให้ทันตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (เน็ต ซีโร่) โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพ สร้างมาตรฐานให้
เอสเอ็มอี”.